ข้อเสนอหลักมีอยู่ 5 แนวทางเพื่อที่จะผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้ไปข้างหน้า คือ 1.สนับสนุนผู้ที่มีความสนใจอยากทำธุรกิจดังกล่าว (Community Management) 2.สร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลาง (Ecosystem development) 3.เปิดโอกาสและรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder engagement) 4.เสริมสร้างการทำงานแบบโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ (Operations management) 5.สร้างระบบให้ดึงดูดการลงทุน (Invesment)
ด้านนายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด เปิดเผยว่า การที่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถเดินต่อไปได้ ต้องไม่ถูกแทรกแซงหรือควบคุมจากภาครัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ไม่สามารถสร้างธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น ในปัจจุบันผู้ประกอบการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายได้ย้ายฐานการประกอบการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ไปจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้มีความชัดเจนด้านกฎหมาย สามารถปฎิบัติได้และอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าอนาคตธุรกิจจะถูกสั่งระงับ หรือ สั่งให้หยุดทำการ
"หากเงินทุนจะเข้ามาในประเทศได้ก็สามารถไหลออกไปได้อย่างเสรีเช่นกัน แค่เรายอมรับแค่นี้การกำหนดกฎเกณฑ์ การกำกับดูแล โดยมีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยได้มากกว่า อันนี้เป็นหลักสำคัญ รวมไปถึงแนวทางของประเทศชาติในเศรษฐกิจโลกใหม่ว่าเราจะดำเนินไปทางไหน โดยมุมมองของการควบคุมกำกับดูแล เราน่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและน่าลงทุนเพื่อดึงดูดเงินทุนเข้ามาให้ได้ หากเรามีเป้าหมายตรงนี้ชัดเจนเราจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี"นายพิริยะ กล่าว
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบ 4 ปี และได้มีพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ เพื่อที่จะให้ประชาชนทั่วไปรู้เท่าทันทั้งด้านความเสี่ยง ประโยชน์ ที่จะนำสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้มาใช้ เพื่อที่จะเป็นการปกป้องระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ ในด้านของการระดมทุนจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระบบ เนื่องจากมีการใช้กันแพร่หลายทั้งในยุโรป สหรัฐ และเอเชีย รวมไปถึงอาเซียน ซึ่งพระราชกำหนดที่ออกมานั้นแสดงถึงความพยายามที่จะดูแลระบบให้มีมาตรฐาน คุ้มครองนักลงทุน ไม่ให้เกิดผลกระทบในขณะที่ยังรู้ไม่เท่าทัน "สินทรัพย์ดิจิทัลปัจจุบันไม่ได้เป็นการปฎิรูป แต่เป็นเหมือนการปฎิวัติเงินตราที่เราเคยจับต้องได้ มีสินทรัพย์หนุนหลัง มีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการออกใช้ หรือยกเลิก ก็จะเปลี่ยนไปเป็นในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมกันเอง ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในโลกของการเงิน ทางรัฐบาลจึงได้คำนึงถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา คนที่รู้ไม่เท่าทันก็อาจจะเป็นเหยื่อ เราไม่ได้ห้าม และ ไม่ได้ส่งเสริม แต่ให้เรารู้เท่าทันก่อนที่วันหนึ่งมาถึงเราจะได้เลือกทางเดินที่เหมาะสม ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยเพื่อไม่เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ"นายวิสุทธิ์ กล่าว