การแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ขณะนี้เกิดข้อสงสัยในแวดวงโทรคมนาคมว่าเหตุใดรัฐบาลจึงยังไม่ทูลเกล้าเสนอรายชื่อผู้ที่วุฒิสภาได้คัดเลือกมา 5 รายแรก จากทั้งหมด 7 ราย หลังจากทางรัฐสภาได้นำส่งไปให้ตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบางฝ่ายคาดว่ารัฐบาลอาจจะรอผลการคัดเลือกให้ครบทั้ง 7 คนเสียก่อน
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทูลเกล้าฯ รายชื่อ กสทช.ชุดใหม่ทั้งหมดจึงยังมีความไม่แน่นอน และทำให้คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไป
ขณะที่เรื่องใหญ่ที่รอการพิจารณาของ กสทช.อยู่ คือ การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แม้ว่าคณะกรรมการ กสทช.จะไม่มีสิทธิยับยั้งดีลนี้ แต่บอร์ด กสทช.มีอำนาจกำหนดมาตรการเฉพาะ หรือกำหนดเงื่อนไขบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากดีลนี้
หากยังไม่มีการแต่งตั้งบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ก็จะทำให้บอร์ดชุดเก่าต้องเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้
โดยตามขั้นตอน สำนักงาน กสทช.จะเสนอเรื่องเข้าบอร์ด กสทช.เพื่อรายงาน และจะมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระภายใน 30 วัน จากนั้นจะต้องเสนอรายงานให้พิจารณาภายใน 90 วัน หรือให้สำนักงาน กสทช.แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อมาศึกษาทำงานคู่ขนานกับที่ปรึกษาอิสระก่อนเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 9 ก.พ.65
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการคุ้นเคยกับกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งทำหน้าที่มา 10 ปีแล้ว ก็คาดว่าจะไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการรวมธุรกิจมากนัก แต่หากเป็นคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ก็เป็นห่วงว่าอาจจะต่อไม่ติด มีโอกาสออกมาตรการเฉพาะหรือกำหนดเงื่อนไขเข้มงวดในการควบรวม ในที่สุดอาจจะไม่มีแรงจูงใจพอในการควบรวมกิจการ
สำหรับรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้ง 5 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางพิรงรอง รามสูต นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และนายศุภัช ศุภชลาศัย
ขณะที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน มี 6 คนได้แก่ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร พ.อ.นที ศุกลรัตน์ พล.ท.พีระพงษ์ มานกิจ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ นายธวัชขัย จิตภาษ์นันท์ และ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
ด้านแหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ระบุว่า โดยหลักการ คณะกรรมการ กสทช.ควรมีสิทธิยับยั้งการรวบรวมกิจการระหวาง TRUE-DTAC ตามหลักสากล แต่กติกาของไทยไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล เพราะผู้คุมกฎส่วนใหญ่อิงกับการเมือง ซึ่งเบื้องหลังการเมืองก็คือกลุ่มทุน จึงจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีการยับยั้งดีลควบรวมที่มีผลต่อการแข่งขันตลาด อย่างกรณีการซื้อกิจการของค้าปลีกขนาดใหญ่
สำหรับกรณี กสทช.ที่มาก็มาจากการคัดเลือกวุฒิสภา ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาล จึงยากที่จะมีการยับยั้งกรณีควบรวม TRUE-DTAC แต่ก็ยังคาดหวังว่าจะได้เห็นการกำกับดูแลหลังการควบรวมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภค
*โบรกฯ คาดดีลจบ Q3/65 ทำเทนเดอร์ Q4/65
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้ TRUE และ DTAC ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ดีลควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทุกราย เพราะจะทำให้โครงสร้างตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนมาเป็นการมีผู้เล่นน้อยลงจากเดิมมีโอเปอเรเตอร์ 3 รายเหลือ 2 ราย
ทั้งนี้ DTAC เป็นผู้ที่มีคลื่นความถี่ในมือน้อยกว่ารายอื่น จึงเสียเปรียบมากทั้งส่วนแบ่งการตลาด และการแข่งขันราคาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้เติบโตช้า หากสามารถรวมกับ TRUE จะทำให้มีสินค้ามากขึ้น ช่องทางการขายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การแข่งขันที่เกิดขึ้นจะสมเหตุสมผลมากขึ้น ไม่มีใครตัดราคา หรือแย่งลูกค้ากัน จะส่งผลให้แต่ละรายหยุดลดราคาแข่งขัน รายได้ก็กลับมาเติบโต ขณะที่แนวโน้มการใช้ Data เพิ่มขึ้นทุกวัน รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานก็ลดลง โดยเฉพาะจากการที่จะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อนในการขยายเครือข่ายคลื่นความถี่ จึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
TRUE และ DTAC แม้ว่าแต่ละรายได้จะมีรายได้เท่าเดิม แต่อัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง ซึ่ง DTAC มี Net Profit Margin มีประมาณ 5-6% ส่วน TRUE ติดลบ 10% ขณะที่ ADVANC มี Net Profit Margin สูงถึง 20%
ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง TRUE-DTAC จะลงนามสัญญาการควบรวมกิจการ หรือตั้งบริษัทใหม่ได้ประมาณเดือน มี.ค.65 หลังจากที่ได้เซ็นเอ็มโอยูทำ Due Diligence จากนั้นก็จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ขณะที่ขั้นตอนในชั้นคณะกรรมการ กสทช. คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสภาฯ คาดน่าจะแล้วเสร็จอย่างเร็วในไตรมาส 3/65 และคาดจะเห็นการเข้าทำเทนเดอร์ฯในไตรมาส 4/65
อย่างไรก็ตาม มองว่าการรวมกิจการครั้งนี่มีความเป็นไปได้ที่จะถูกประชาชน รวมถึง NGO และกลุ่มการเมือง ต่อต้าน เพราะจะไม่เห็นการลดราคาในสนามการแข่งขันของบริการโทรคมนาคมอีกต่อไป
ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองดีลควบรมระหว่าง TRUE และ DTAC ส่งผลดีต่อกลุ่มสื่อสาร โดยความน่าสนใจอยู่ที่งบลงทุน ซึ่ง ADVANC มีอยู่ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ TRUE มีอยู่ 2-3 หมื่นล้านบาท และ DTAC อยู่ที่ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกิจการจะมีงบลงทุนลดลงประมาณ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท/ปี จึงมองเป็น upside ต่อบริษัทใหม่หลังการควบรวมกิจการที่มีโอกาสใช้ Economy of scale ออกแพ็คเกจมาแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง ADVANC
โดยที่ผ่านมาตลาด Fix Broadband ไม่มีการแข่งขันกันรุนแรง ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้ ADVANC มีเงินมากก็ใช่ว่าจะแข่งขันได้ เพราะไม่คุ้มกับการแข่งขันหลายพื้นที่ซึ่งยากมาก จึงทำให้ตลาด Fix Broadband แข่งขันไม่ง่าย ไม่เหมือนมือถือ ทำให้ ADVANC เสียเปรียบกว่า TRUE ทำให้ ADVANC ประมาทไม่ได้
เท่าที่มองกลุ่ม TRUE-DTAC ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะลดราคาได้ ไม่มีแต้มต่อเพราะฐานะการเงินไม่สามารถเล่นเกมระยะยาวได้ แต่หาก 2 บริษัทมารวมกิจการ ทำให้บริษัทใหม่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนักลงทุนก็ต้องติดตาม แต่มองว่าเคสนี้ไม่ได้เร็ว อาจใช้เวลาไปถึงไตรมาส 3/65 โดยช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นในกระดานยังต่ำกว่าราคาเทนเดอร์ฯ มองว่าในอนาคตราคาน่าจะมีโอกาสปรับตัวใกล้ราคาเทนเดอร์
อนึ่ง TRUE ระบุว่า CP Holding และ Telenor Asia ประกาศจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ของ TRUE และ DTAC ที่ราคา 5.09 บาท/หุ้น และ 47.76 บาท/หุ้น ตามลำดับ