ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 62 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ศาลฯเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับค่าเสียหายที่ BTSC เรียกร้องตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นค่าใช้จ่ายปกติที่บริษัทต้องใช้ในการดำเนินการอยู่แล้ว ศาลจึงยกฟ้อง
ตุลาการศาลปกครองกลาง พิจารณาว่า การที่ BTSC อ้างว่าค่าที่ปรึกษาทางเทคนิคและที่ปรึกษาทางกฎหมายจำนวน 500,000 บาทเป็นค่าเสียหายเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากที่คณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูล และที่ BTSC แย้งว่าเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค มิใช่ค่าจ้างเตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับ รฟม.นั้น ศาลเห็นว่าเป็นคำกล่าวอ้างของ BTSC ที่ขัดแย้งกันเอง ไม่อาจรับฟังได้ และเป็นข้อกล่าวอ้างที่ปราศจากเหตุผลสนับสนุนและไม่น่าเชื่อถือ
ส่วนคณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกเอกชนจากเดิมกำหนดให้ผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอทางเทคนิค) ได้คะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 80% และได้คะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 85% จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 เปลี่ยนเป็นการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิค 30 คะแนน และซองที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนอีก 70 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด และจะได้รับการประเมินให้กับผู้ชนะการคัดเลือกนั้นศาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มมเติมและ เปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดี จากการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกเอกชนดังกล่าว BTSC ไม่ได้รับความเสียหายจากการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว และค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคและที่ปรึกษาทางกฎหมายของ BTSC มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ BTSC ได้