นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามราชธานี (SO) เปิดเผยแผนการดำเนินงานประจำปี 65 ว่า ปีนี้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากปี 64 นี้ โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรกการที่บริษัทจะทำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการการจ้างเหมาบริการครบวงจรมากขึ้นเพื่อให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตลอดระยะกว่า 40 ปีที่ให้บริการลูกค้ามา ได้เปิดรับฟังความต้องการของลูกค้าและปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนสะสมเป็นประสบการณ์การทำงานร่วมกันกับลูกค้า ที่สำคัญทำให้สามารถพัฒนาแนวทางการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ (Solution) เพื่อแก้ข้อจำกัดหรืออุปสรรคให้กับลูกค้าเมื่อเกิดอุปสรรคหรือข้อติดขัดในกระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา รวมถึงยังสามารถประยุกต์การแก้ไขปัญหาในกรณีที่คล้ายกันให้กับลูกค้ารายอื่นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการทำงานขึ้นมาใหม่ เช่น การใช้ระบบเพื่อเก็บข้อมูลการลงเวลา (Tiktrack) ตั้งแต่การลางาน การทำงานล่วงเวลา หรือเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว อีกทั้งลูกค้ายังสามารถเห็นข้อมูลอย่างทันท่วงทีหรือแบบเรียลไทม์จนทำให้สามารถอนุมัติขั้นตอนต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการติดตามเอกสาร รวมถึงยังป้องกันการสูญหายของข้อมูลได้อีก โดยสามารถจัดเก็บได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือ การได้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของลูกค้าได้อย่างชัดเจน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า SO พยายามจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น และปีนี้บริษัทจะมีการเผยแพร่กรณีตัวอย่างของบริษัทที่มีการใช้นวัตกรรมใหม่มาแสดงผลให้บริษัทที่สนใจลดขั้นตอนกระบวนการทำงานได้เห็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร (Outsourcing Show Case) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดสัมมนาหรือแนวทางอื่นๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ธุรกิจอื่นได้สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์การใช้งานในแบบฉบับของตัวเองได้ (Reapply)
"SO มีวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเสนอแนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา โดยในแต่ละเดือนบริษัทจะเปิดเวทีให้กับทุกหน่วยงานเสนอนวัตกรรมใหม่เพื่อมาต่อยอดกลยุทธ์การลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องของเวลาและเงินทุน (Lean) ที่ทำมาต่อเนื่อง 2-3 ปี เนื่องจากมีเป้าหมายและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือในบางกรณีก็จะมอบหมายให้ทีมที่รับผิดชอบโครงการได้ใช้เวทีนี้ในการนำเสนอไอเดียต่อคณะกรรมการบริษัทหรือคณะผู้บริหาร เพราะนโยบายของคณะผู้บริหารยินดีและมีความพร้อมที่จะสนับสนุน รวมถึงช่วยผลักดันร่วมผลักดันให้เกิดการทดลองสิ่งใหม่ๆ เสมอ" นายณัฐพลกล่าว
ส่วนปัจจัยที่สอง จะมาจากการร่วมกันทำงานกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ และการเน้นการลงทุนของบริษัทมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้ตั้งหน่วยงานใหม่ที่รับผิดชอบและดูแลเรื่องโครงการและการลงทุนต่างๆ โดยตรง (Investment and Project) รวมถึงการหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี หรือหาบริษัทร่วมการลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เข้ามาเป็นพันธมิตร รวมถึงการเปิดโอกาสให้พันธมิตรร่วมมาเป็นคณะกรรมการบริษัทเพื่อร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางของบริษัท ซึ่งในส่วนนี้เป็นส่วนที่ซีอีโอได้เข้ามาดูแลโดยตรง
"กว่า 1 ปีที่บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากจะทำให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจากเงินการระดมทุนที่ได้รับแล้ว ต้องถือว่ายังทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับความไว้วางใจกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ที่มาร่วมสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบการเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) หรือเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจที่เห็นว่าต่างก็สามารถทำให้เกิดกลยุทธ์ร่วมกัน หรือหาพันธมิตรที่สามารถนำมาต่อยอดให้กับแผนงาน SO ได้ ตั้งแต่ด้าน Outsourcing Solution, Software Enterprise, และ Professional Training อีกทั้งยินดีเปิดบ้านต้อนรับพันธมิตร (Potential Partners) ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพต่างๆ ที่พร้อมจะมาร่วมเป็นทั้งผู้พัฒนาและผู้สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง หากเห็นโอกาสและเกิดการทำงานร่วมกันได้ SO ก็พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับทุกคนตลอดเวลา"นายณัฐพล กล่าว
สำหรับการแต่งตั้งนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub) มาดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการอิสระ และกรรมการยุทธศาสตร์ของบริษัท เพราะถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มั่นใจได้ว่าจะมาช่วยศึกษาและกำหนดยุทธศาสตร์ให้กับฝ่ายบริหารได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยปกติกรรมการยุทธศาสตร์ของบริษัทจะทำหน้าที่ช่วยกำกับให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังร่วมพิจารณากลั่นกรองของฝ่ายจัดการที่มีการนำเสนอโครงการต่างๆ หรือการขยายกิจการการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมคำนึงถึงความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยเช่นกัน รวมถึงการกำกับศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการการลงทุนในธุรกิจและติดตามความคืบหน้าจากโครงการที่ลงทุน พร้อมให้คำแนะนำต่างๆ ต่อปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการได้