นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวถึงกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุน พร้อมธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ว่า ความเสี่ยงของการลงทุนในปีนี้คงจะหนีไม่พ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ผู้ถือตราสารหนี้(บอนด์) จะเจอความเสี่ยง 2 เด้ง คือ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ได้ผลตอบแทนเป็น Negative Return หรือติดลบ จึงเป็นโอกาสการลงทุนในตราสารทุน แม้จะมีการขี้นดอกเบี้ย แต่หุ้นก็ยังมีการเติบโตได้เมื่อเทียบกับบอนด์
ขณะที่การลงทุนปีนี้ แนะลงทุนในเมกะเทรนด์ที่มาแรง ประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1.Aging Society, Ai 2. Big Data, Blockchain Technologies 3. Climate Change, Cloud Computing, Cybersecurity 4. Data Center, DeFi และ 5. ESG, EV ซึ่งทางบลจ.บัวหลวงก็จะมีกองทุนที่ลงทุนในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ กองทุน B-INNOTECH, B-FUTURE ที่ลงทุนใน AI, Innovation เป็นต้น
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปีนี้ จาก MSCI All-Country World Equity Index ชี้ให้เห็นว่าน้ำหนักการลงทุนจะไปอยู่ที่สหรัฐฯ ถึง 60%, ยุโรป 15% และจีน 3.87% ขณะที่ไทยอยู่เพียง 0.17% ซึ่งหากจะลงทุนอยากให้นักลงทุนมองว่ากองทุนนั้นๆ มีดัชนีชี้วัดมาตรฐานอย่างไร เช่น กองทุน BMAP มีการผสมผสานหุ้นทั่วโลก หรือ BCAP Global Multi Asset Fund ที่มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ และยังสามารถจับเมกะเทรนด์ได้
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้จะโตได้ราว 18% หรือคิดเป็น 98 บาทต่อหุ้น จากการขับเคลื่อนของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) แต่ก็ยังต้องระวังการปรับลดคาดการณ์กำไรของนักวิเคราะห์ ซึ่งต้องรอดูว่ากำไรไตรไมาส 1/65 ที่ออกมาจะโตได้หรือไม่ โดยมุมมองของบล.บัวหลวง คาดว่ากำไรของบจ.ไทย จะโตได้ราว 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชีย จาก Consensus หลายสำนักคาดการณ์ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้จะโตใกล้ 10% แต่มากกว่าอาเซียนด้วยกัน ก็น่าจะดูเด่นขึ้นในกลุ่มตลาดอาเซียน และ Valuation ก็ไม่ถึงกับตึงตัวมาก ทำให้มองว่าดัชนีฯ ปีนี้มีโอกาสแตะ 1,800 จุดได้
สำหรับหุ้นเด่นปีนี้ คือ หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Consumption, Commerce จากราคาหุ้นยัง Laggard อยู่ และยืดหยุ่นต่อแรงกดดันของเงินเฟ้อได้ดี และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง EV Car เช่น บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC), บมจ.ปตท. (PTT) ก็มีพาสเนอร์กับบริษัทต่างประเทศ รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มเทคโนโลยี อย่าง บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY), บมจ.เบริล 8 พลัส (BE8) เป็นต้น ขณะเดียวกันกลุ่มที่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มด้านการเงินปีนี้อาจปรับตัวลงมาบ้าง เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ย ทำให้หุ้นที่ P/E สูง โดยขาย อย่างหุ้น NASDAQ ที่โดนเทขายออกมา
ด้านนายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล กล่าวว่า โอกาสการลงทุนในปีนี้ จะยังเป็นหุ้นอยู่ แต่ไม่ใช่หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้เริ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จากเงินเฟ้อ ทำให้เกิดความผันผวนของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงราคาหุ้นในตลาดสหรัฐ และหลายๆ ตลาดก็ค่อนข้างแพง นักลงทุนก็ควรจะเริ่มมองหาการลงทุนทางเลือก ที่นอกจากหุ้น ตราสารหนี้ รีท หรือพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ที่มีอยู่วันนี้
โดยแนะนักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุน โดยให้มีสินทรัพย์ Alternative ในพอร์ต ซึ่งในการลงทุนในระยะยาวเพื่อการเกษียณของต่างประเทศจะมีสัดส่วนของสินทรัพย์ดังกล่าวถึง 30% ขณะที่นักลงทุนทั่วโลก ที่เป็นนักลงทุนบุคคลและการลงทุนระยะยาวจะมีสินทรัพย์ทางเลือกในพอร์ต 5%