นายวรศักดิ์ เกรียงโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี (EE) เปิดเผยว่า บริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด (CW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ EE ถือหุ้น 80% เริ่มปลูกต้นกัญชงตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะปลูกแบบโรงเรือน (Green House) ขนาด 9,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถปลูกได้ 30,000 ต้น นอกจากนั้นยังการปลูกในพื้นที่ Outdoor อีก 20,000 ต้น ทั้งหมดตั้งอยู่ในที่ดินของบริษัทที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 36 ไร่ใน อ.วิหารแดง จ.สระบุรี
การปลูกกัญชงเน้นใช้นวัตกรรมการปลูกและสายพันธุ์ที่มีคุณภาพด้วยการนำเข้าจากสหรัฐ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ EHFEP #1 และ EHFEP #6 ซึ่งจะให้ผลผลิตที่มี CBD สูงถึง 19% และ 21% ตามลำดับ โดยปัจจุบันผลผลิตทั้งหมดมีสัญญาซื้อขาย (Order) ครบแล้ว ทั้งช่อดอกกัญชง(แห้ง) ใบกัญชง (สด) ลำต้น/กิ่งก้าน(แห้ง) และ ราก (สด)
CW คาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวส่วนของใบกัญชงได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.65 เพื่อส่งให้พันธมิตรตามคำสั่งซื้อ และจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่อดอกตั้งแต่เดือน พ.ค.65 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถทยอยรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เบื้องต้นคาดหวังขายผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งที่มีระดับสาร CBD มากกว่า 10% จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 กิโลกรัม/ปี โดยระดับสาร CBD มากกว่า 10% มีราคาขาย 7,500 บาท/กิโลกรัม และระดับสาร CBD มากกว่า 16% มีราคาขาย 15,000 บาท/กิโลกรัม
พร้อมกันนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการมองหาและศึกษาโครงการใหม่ๆ ตามแผนเข้าลงทุนเพิ่มเติมในโครงการกัญชงที่มีศักยภาพ มูลค่าโครงการ 600-700 ล้านบาท เพื่อเร่งสร้างปริมาณ supply ให้ได้มากตามความต้องการของตลาด หรือกลุ่มลูกค้าพันธมิตร คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1/65 โดยจะเริ่มเห็นความคืบหน้าของการลงทุนในช่วงไตรมาส 2/65
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมสร้างร้าน Cafe กัญชง จำนวน 100 สาขาภายในไตรมาส 1/65 คือ Cann Cafe จากนั้นจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะทยอยเปิดสาขาให้ครบ 1,000 สาขาก่อนสิ้นปี 65 พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชงออกวางตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น Craft Soda ซ่าสนุก, ซอสทำอาหาร, ก๋วยเตี๋ยว และสมุนไพรบรรเทาอาการปวด เป็นต้น เพื่อบุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน
นายวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI) เพื่อศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชงไปบริการให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชา-กัญชง และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสาร BCD ด้วยการซื้อวัตถุดิบ หรือหัวเชื้อน้ำเชื่อมจากบริษัท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกับพันธมิตรร้านอาหารญี่ปุ่น และแบรนด์อื่นๆ หรือบริการด้านอาหารในเครือโรงแรม Aquarius
"บริษัทมั่นใจว่าการดำเนินการในส่วนต่างๆข้างต้นจะช่วยหนุนรายได้ให้กับกลุ่มบริษัท EE อย่างครบวงจร และเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส ซึ่งได้มีการเตรียมงบลงทุนไว้รองรับทั้งหมดแล้ว"นายวรศักดิ์ กล่าว
สำหรับมุมมองต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทยนั้น ประเมินว่า EE จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ได้เปรียบในตลาด เนื่องจากเป็นผู้ผลิตต้นนำที่ได้รับใบอนุญาตรายแรกๆ และสามารถปลูกได้จริง โดยระยะ 5 ปีนับจากนี้คาดว่าตลาดกัญชงจะมีมูลค่ารวมกว่า 15,000 ล้านบาท/ปี ส่วนตลาดต่างประเทศถือเป็นตลาดใหญ่คาดมีมูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
https://www.youtube.com/watch?v=KPOaWUJu2TI