(เพิ่มเติม1) ศาลให้ PTT มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนต่อไป แต่ให้โอนท่อก๊าซ-ที่ดินคืนรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2007 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่เพิกถอนกฎหมายแปรรูป บมจ.ปตท.(PTT) ทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากเกรงจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงทำให้ PTT มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดต่อไป แต่ให้แก้ไขประเด็นต่างๆ ที่ขัดต่อข้อกฎหมาย โดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิในที่ดินเวนคืน และท่อส่งก๊าซ-น้ำมันกลับคืนไปให้กับกระทรวงการคลัง เพราะถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
"โดยอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 คณะรัฐมนตรีจึงต้องโอนสินทรัพย์ของ ปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินให้กระทรวงการคลัง โดย บมจ.ปตท.ยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท.เคยมีอยู่ต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด" คำพิพากษา ระบุ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ขณะนี้ บมจ.ปตท.ได้มีการจัดตั้งและกระจายหุ้นไปแล้ว และเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการเพิกถอนการแปรรูปก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามจะแก้ไขในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอำนาจและกรรมสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ หลังจากแปรสภาพ ปตท.เป็นบริษัทเอกชนแล้ว
อีกทั้งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเหตุต่างๆ ไม่ถึงขั้นต้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544
แต่ให้ผู้ถูกฟ้องไปดำเนินการแก้สิ่งที่ขัดกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยจะต้องแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิ ในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บมจ.ปตท.ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
โดยเฉพาะการถือครองกรรมสิทธิในท่อส่งก๊าซทั้งที่ระยอง-สมุทรปราการ, ชายแดนพม่า-ราชบุรี รวมทั้งท่อส่งน้ำมัน ซึ่งถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน เมื่อ PTT แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป ดังนั้นสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันก็ต้องโอนคืนกลับไปเป็นของรัฐ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้อง กล่าวว่า รู้สึกพอใจผลตัดสินคดีในระดับหนึ่ง แต่คดีนี้ยังไม่จบ เพราะถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่ศาลระบุว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อโอนกรรมสิทธิในการเวนคืนที่ดินจาก ปตท.กลับไปยังคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงานถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดเกิดขึ้นแล้วก็ต้องจับตาดูรัฐบาลชุดนี้ว่าจะหาคนรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงเรื่องรายได้ในกรรมสิทธิท่อก๊าซและที่ดินเวนคืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ปตท.ไม่เคยจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐเลย
"คงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลขิงแก่จะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองอย่างไรบ้าง รวมถึงการเรียกร้องผลประโยชน์จาก ปตท.เกี่ยวกับการใช้ท่อก๊าซในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา" น.ส.รสนา กล่าว
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ จะกลับไปศึกษาคำพิพากษาถึงประเด็นข้อกฎหมายกับทีมทนายความเพื่อหาช่องทางดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
"อยากเรียกร้องสปิริตของรัฐมนตรีพลังงานที่ปล่อยให้ ปตท.ใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติ และยังมาแก้ไขกฎหมายโดยมีชอบอีก" น.ส.รสนา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ