นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วานนี้มีมติเห็นชอบการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 2,751,200,000 บาท จากทุนจดทะเบียนปัจจุบันจำนวน 20,400,278,730 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 23,151,478,730 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท"
การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว จะแบ่งเป็น
ส่วนที่ 1 การเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น ซึ่งรวมการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ สงวนสิทธิไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ
ส่วนที่ 2 บริษัทฯ อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในคราวนี้ ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกันกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering)
ทั้งนี้ วันที่คาดว่าจะแจ้งราคาจองซื้อสุดท้ายวันที่ 30 มิ.ย. 65
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังเห็นชอบการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ให้แก่บมจ.ปตท. (PTT) และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งมีปตท. ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.78 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาก่อนหักเงินปันผลของ GPSC หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และก่อนวันโอนหุ้น (หากมี) และให้นำทั้ง 2 รายการเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
การเพิ่มทุนและการจำหน่ายหุ้น GPSC ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่บริษัทฯ ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่ ปตท. และธนาคารพาณิชย์ จากเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ที่มีการกู้ยืมเพื่อรองรับการเข้าลงทุนของบริษัทฯ ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) เมื่อไตรมาส 3/64 ทั้งนี้ การเพิ่มทุนและการจำหน่ายหุ้น GPSC ในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของบริษัทฯ"
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินโดยได้เข้าร่วมลงทุนใน CAP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็วและทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก
นอกจากนี้ การลงทุนนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง TOP กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาเพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resins) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ของบริษัทจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 9.00 น. โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น และออกเสียงลงคะแนน (Record Date) ในวันที่ 4 มีนาคม 2565