พร้อมผลักดันรายได้กลุ่มธุรกิจให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตผ่านเครือข่ายสาขาให้แก่บริษัทประกัน รองรับประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันใช้ป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) เพื่อตอบรับความต้องการแหล่งเงินทุนนำไปประกอบอาชีพอิสระในช่วงจังหวะเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวที่ดี ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) บริษัทตั้งเป้าที่จะให้ปรับลดลงเหลือ 3.1% จากปีก่อนที่ 3.42% โดยการพัฒนาซอฟแวร์พิสูจน์ยืนยันตัวตน หรือ KYC ช่วยพิจารณาสินเชื่อที่เหมาะสม รวดเร็ว ด้วยต้นทุนให้บริการที่ลดลง พร้อมเพิ่มความสามารถควบคุมและบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ นอกจากนี้จะนำฐานข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์วางแผนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกันนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ที่ 170-180% โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นบริษัทได้เตรียมปรับระดับการตั้งสำรองเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ เอื้อต่อการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง นางสุธารทิพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันทางการเงินเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อที่จะร่วมมือทางด้านธุรกิจด้านต่างๆ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 65 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัท 10% ซึ่งปัจจุบันได้มีการพูดคุยและมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการร่วมมือทางด้านธุรกิจไปแล้วพอสมควร ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็วตามแผน ซึ่ง HENG เตรียมความพร้อมการออกหุ้นกู้ในวงเงินหมุนเวียนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยเป็นการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจและโอกาสทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดย ณ สิ้นปี 64 บริษัทพึ่งพิงการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในสัดส่วน (D/E) ที่ระดับ 1 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น บริษัทยังมีสัดส่วนความสามารถในการจัดหาเงินเพื่อใช้ในการขยายตัวทางธุรกิจอีกหลายเท่าของจำนวนเงินกู้ยืมธนาคารในปัจจุบัน