นางสาวจัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของ RBF จากนี้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 65 มี 3 ปัจจัยหลักที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ประกอบด้วย 1.การปรับราคาของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามต้นทุนของวัตถุดิบและต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ 2.วัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมีแนวโน้มคงที่ และ 3.สถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย จึงทำให้บริษัทฯเพิ่มยอดขายในต่างประเทศได้ดีขึ้น และบริษัทยังมีการขยายตลาดใหม่ๆมากขึ้น เช่น กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่มคลินิก, และกลุ่ม wellness center
สำหรับผลผลิตโรงสกัดสารกัญชง ของ RBF เพื่อที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าปลายน้ำ ทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีการเซ็นสัญญารับคำสั่งซื้อกับลูกค้ารายใหญ่แล้วหลายราย ล่าสุดเริ่มมีการต่อยอดและทยอยออกสินค้าปลายน้ำสู่ตลาดในประเทศแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจกัญชงเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 1/65 เป็นต้นไป และจะทยอยรับรู้เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/65 ตามการส่งมอบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังได้ยกระดับมาตรฐานการผลิตโรงสกัดสารกัญชงเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าเวชภัณฑ์และการแพทย์
ส่วนธุรกิจหลัก คือการผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) บริษัทมองว่าแนวโน้มของตลาดต่างประเทศในปี 65 จะกลับมาเติบโตดีขึ้นกว่าปี 64 โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งในปี 65 จะเห็นความคืบหน้าการร่วมมือกับ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และบริษัท Srinivasa Cystine Private Limited (SCPL) ในอินเดีย เพื่อขยายตลาดดังกล่าวด้วย
ขณะที่ภาพรวมของตลาดภายในประเทศก็จะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับมา หลังจากภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้กำลังซื้อ รวมถึงปริมาณความต้องการในสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 64 บริษัทยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯมีรายได้รวม 3,383.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,116.38 ล้านบาท ทั้งนี้รายได้ที่เติบโตขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านเริ่มมีการผ่อนคลายลง จึงทำให้มีการบริโภคในประเทศ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย Food Ingredients เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าในปี 64 การเติบโตยอดขายโดยรวมในประเทศอาจจะชะลอตัวลงบ้าง จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แต่สำหรับฐานการผลิตในต่างประเทศทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามยังคงมีการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มแป้งและซอส ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรวมของบริษัทฯมีการเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น
"อย่างไรก็ตามในปี 64 บริษัทมีผลกระทบจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ในกลุ่มโรงแรม ซึ่งได้จำหน่ายออกไปแล้วในไตรมาส 2/64 ดังนั้นตั้งแต่ปี 65 จึงทำให้บริษัทไม่มีรายการผลกระทบด้อยค่าหรือขาดทุนจากโรงแรมเข้ามามาอยู่ในกิจการอีก โดยจะทำให้สามารถเห็นการเติบโตของกำไรในธุรกิจหลักอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น" นายสุรนาถ กล่าว