นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้และปริมาณจราจรในปี 65 มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ปริมาณจราจรฟื้นกลับอย่างรวดเร็วตามระดับของมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมของภาครัฐต่อเนื่อง การเร่งกระจายการฉีดวัคซีน การเปิดภาคเรียน และแผนการเปิดประเทศที่ภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งจะสนับสนุนการเดินทางและปริมาณจราจรบนทางยกระดับให้เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภททางด่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ดังนั้น จึงคาดว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้จะฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเดินทาง หรือ การคมนาคมยังมีความจำเป็นต่อเนื่องตลอดเวลา และเมื่อพิจารณารูปแบบการการเดินทาง เปรียบเทียบ รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าจะเห็นว่าโดยรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถบริหารจัดการเรื่อง Social Distancing ได้ดีกว่าการเดินทางโดยรถยนต์สาธารณะและรถไฟฟ้า และลักษณะการเดินทางที่เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยบวก รวมถึงโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งโดยรอบทางยกระดับดอนเมืองและการขยายตัวของชุมชน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"ตลอดปี 64 DMT ยังคงดำเนินมาตรการป้องกันและการบริหารจัดการได้อย่างเข้มข้นผ่านทางคณะจัดการเหตุฉุกเฉินโรคระบาด ทำให้บริษัทให้บริการกับผู้ใช้ทางยกระดับอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก มีเสถียรภาพ และมีความมั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียได้และยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวในปี 65" นายศักดิ์ดา กล่าว
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ในไตรมาส 4/64 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 384.79 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 110% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นจาก 34,870 คันต่อวันในไตรมาส 3/64 เป็น 72,396 คันต่อวัน ในไตรมาส 4/2564 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว การเปิดประเทศ และการเปิดภาคเรียนบางส่วนที่มีความพร้อมในวันที่ 1 พ.ย.64 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 4/64 สูงขึ้นกว่าไตรมาส 3/64 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าไตรมาส 4/63
สำหรับผลการดำเนินงานปี 64 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณจราจรและรายได้ของบริษัทฯ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการ Lockdown 2 ครั้ง ในเดือน พ.ค. และเดือน ก.ค.-ส.ค. โดยรายได้ค่าผ่านทางลดลงในอัตรา 41% เมื่อเทียบกับปี 63 แม้ว่ารายได้ค่าผ่านทางจะลดลง แต่บริษัทก็ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ และดำเนินการบริหารการจัดการในการลดและควบคุมค่าใช้จ่าย การปรับเลื่อนแผนงานโครงการ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่บริษัทได้นำมาปรับใช้เป็นแนวทางดำเนินการเช่นเดียวกับปี 63 ซึ่งไม่กระทบต่อการให้บริการบนทางยกระดับ
ด้านนายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ DMT เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการนำหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 140 ล้านหุ้นเข้าจดทะเบียนฯ และมีการซื้อ-ขายเมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 ส่งผลให้ ณ 31 ธ.ค.64 ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 0.07 เท่า ซึ่งทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การต่าง ๆ ได้ และมีความพร้อมในการขยายกิจการในการเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐเปิดประมูลเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (Public Private Partnership) ในระหว่างปี 65-66 หลายโครงการ
รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการให้บริการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบการจัดการจราจรและกู้ภัย เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้ทางเกิดความมั่นใจและประทับใจในการบริการ
โดยในไตรมาส 1/65 บริษัทฯ จะเปิดใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิคส์ที่ชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร M-Pass และ Easy Pass รวมถึงการชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV และ QR Payment
นอกจากนี้บริษัทยังได้ศึกษาและพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ "แบบไม่มีไม้กั้นหรือ M-Flow" ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งช่อง M-Flow Demo Lane Test ที่บริเวณด่านดินแดง จำนวน 2 ช่อง เพื่อทดสอบระบบการตรวจจับยานพาหนะแบบอัตโนมัติ โดยจะมีการทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ Single Platform ของกรมทางหลวงในช่วงต้นปี 65
ด้วยความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุน DMT พร้อมขยายกิจการและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยจะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมานานกว่า 30 ปี เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Toll Road Business) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง และธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Non-Toll Road Business) อาทิ โครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวง (Rest Area) และ โครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง