บมจ.ดี.ที.ซี.เอ็นเตอร์ไพรส์ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 305 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไวหุ้นละ 0.50 บาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบล.โกลเบล็ก เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย
บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ระดมทุนมาใช้ลงทุนศูนย์ควบคุมยานพาหนะ (Control room) จำนวน 70 ล้านบาทภายในไตรมาส 4/66 ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเสริมศักยภาพในธุรกิจ (M&A) จำนวน 450-500 ล้านบาทภายในปี 67 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ
ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ ผลิต จัดจำหน่าย และให้บริการเช่าอุปกรณ์สำหรับติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) ผ่านระบบดาวเทียม อุปกรณ์ติดตามยานพาหนะประเภทกล้องบันทึกภาพ (Mobile DVR) อุปกรณ์เสริมทุกประเภทสำหรับสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ โดยมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ตามความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาโครงการไอโอทีโซลูชั่น (IoT Solution) รวมถึงระบบบริหารจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี AI ให้แก่ลูกค้าทั้งในภาครัฐบาล และในภาคเอกชน
ปัจจุบัน บริษัทมีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิศวกรรม ซอฟต์แวร์ จำกัด (WS) บริษัท ไทย ดิจิทัลแมพ จำกัด (TDM) และบริษัท ดี คอร์ ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ จำกัด (DCORE) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 90%, 95% และ 90% ตามลำดับ
ขณะนี้กลุ่มบริษัทได้มีการคิดค้นและพัฒนาโครงการไอโอทีโซลูชั่น (IoT Solution) สำหรับบริหารจัดการชุมชนเมือง (Smart City Solutions) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเทศบาลในการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงาน ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ได้แก่ ระบบบริหารงานโครงสร้างพื้นฐาน (Smart Public Utility) ,ระบบบริหารงานสาธารณสุข (Smart Public Health), ระบบบริหารงานค่าธรรมเนียมอัจฉริยะ (Smart Collection), ระบบรับแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Smart Alert)
รายได้ของกลุ่มบริษัทฯแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) รายได้จากการขาย ซึ่งเกิดจากการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) อุปกรณ์ติดตามยานพาหนะประเภทกล้องบันทึกภาพ (Mobile DVR) รวมถึงอุปกรณ์เสริมประเภทต่างๆ และ (2) รายได้จากการบริการ ซึ่งเกิดจากการให้บริการการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ การให้เช่าอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะทุกประเภท และการให้บริการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ โครงการด้าน IoT หรือระบบบริหารจัดการอัจฉริยะต่าง ๆ ด้วยระบบ AI หรืออื่น ๆ ตามความต้องการของลูกค้า
สำหรับผลประกอบการในช่วงปี 61-63 และงวด 9 เดือนปี 64 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 784.22 ล้านบาท 810.94 ล้านบาท 639.38 ล้านบาท และ 435.40 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้หลักของบริษัทจะมาจากการรายได้จากการให้บริการใช้ระบบติดตามยานพาหนะ ขณะที่กำไรสุทธิ เท่ากับ 116.80 ล้านบาท 166.49 ล้านบาท 109.12 ล้านบาท และ 55.99 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ ในอัตรา 14.89% 20.53% 17.07% และ 12.86% ตามลำดับ
ณ วันที่ 30 ก.ย.64 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 943.31 ล้านบาท หนี้สินรวม 275.51 ล้านบาท และ ส่วนผู้ถือหุ้น 667.80 ล้านบาท
โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 ก.ย.564 กลุ่มครอบครัวนายทศพล คุณะเพิ่มศิริ และนางสายจิราพร ลายลักษณ์ ถือหุ้น 65.50% หลังจากการเสนอขายหุ้น I{O จะลดสัดส่วนลงมาที่ 48.93% , บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็มคอร์ปอเรชั่น (YES) จาก 18% มาเป็น 13.44% บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด จาก 15% เหลือ 11.20%
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ