KBANK ออกแคมเปญสินเชื่อกลุ่มรถ BEV หลังรัฐคลอดมาตรการหนุน พร้อมรุกดิจิทัล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 23, 2022 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KBANK ออกแคมเปญสินเชื่อกลุ่มรถ BEV หลังรัฐคลอดมาตรการหนุน พร้อมรุกดิจิทัล

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ ลีสซิ่งกสิกรไทย บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของลีสซิ่งกสิกรไทยในปี 65 จะทยอยออกแคมเปญเชิงรุกด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการและสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้อย่างรู้ใจ ถูกที่ และถูกเวลา รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งด้วยการจับมือร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถใหม่และรถใช้แล้ว เพื่อการทำการตลาดร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

โดยไตรมาส 1/65 เดินหน้าเชิงรุกสอดรับกับนโยบาย Green Zero ของธนาคารกสิกรไทย เสนอโปรแกรมพิเศษสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ประเภท BEV ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยลูกค้าที่ออกรถ BEV และใช้ "สินเชื่อรถใหม่" รับสิทธิ์ขับฟรี ผ่อน 0 บาทเป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันนี้ -30 มิ.ย. 65 ด้าน "สินเชื่อรถใช้แล้ว" เตรียมขยายการให้บริการสำหรับสินเชื่อรถมือสอง ทั้งรถเต็นท์และรถบ้าน โดยออกแคมเปญที่โดนใจ สำหรับรถบ้านมือสองรับโปรแกรมขยายระยะเวลาประกันอะไหล่รถครอบคลุมถึง 1 ปี หรือ 30,000 กิโลเมตร (Extended Warranty) ตั้งแต่วันนี้- 30 เม.ย. 65

สำหรับ "สินเชื่อรถช่วยได้" ที่มุ่งเน้นเสริมสภาพคล่องทางการเงินของคนที่มีรถและต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจหรือใช้จ่ายอเนกประสงค์ ได้ออกผลิตภัณฑ์ "รถช่วยได้ ไม่ต้องใช้เอกสารรายได้" ลดขั้นตอนยุ่งยากด้านเอกสาร ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่วนลูกค้าที่ยังผ่อนรถอยู่ไม่ว่ากับที่ไหน ก็มี "รถช่วยได้ ผ่อนอยู่ก็กู้ได้" สามารถนำมาขอสินเชื่อรถช่วยได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา ได้รับวงเงินเพิ่ม ค่างวดที่ผ่อนอยู่ก็ลดลง ถือว่าเป็นการลดภาระหนี้ต่อเดือนของลูกค้าให้เล็กลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดสินเชื่อรถช่วยได้และรถใช้แล้วในปี 65 ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องจากปี 64 จากปัจจัยสนับสนุนทั้งอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากเริ่มมีรถที่เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนบางส่วนที่ลดลงทำให้เข้าไม่ถึงการซื้อรถใหม่ นอกจากนี้สำหรับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การโควิด-19 ลีสซิ่งกสิกรไทยจะนำเสนอโปรแกรมที่ให้ความช่วยเหลือทั้งรูปแบบมาตรการช่วยเหลือ และสินเชื่อรถช่วยได้ เพื่อแบ่งเบาภาระ โดยลูกค้าปรับระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น ทำให้ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระ และมีรถยนต์เพื่อใช้ประกอบอาชีพต่อไปได้

ส่วนไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ลีสซิ่งกสิกรไทยจะเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทเตรียมออกโครงการพิจารณาสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มเครดิตสกอริ่งตัวใหม่ และทางช่องทางดิจิทัลที่จะตอบสนองฐานลูกค้าธนาคารกสิกรไทยให้ได้รับการอนุมัติง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ภาพรวมตลาดรถยนต์ใหม่ปี 64 ที่ผ่านมา มียอดจำหน่าย 759,119 คัน หดตัวถึง 4.2% เมื่อเทียบปี 63 อันเนื่องมาจากปัจจัยลบสำคัญ 2 ด้าน คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ทำให้รถยนต์บางรุ่นในบางยี่ห้อต้องหยุดผลิตลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปี 65 สถานการณ์ต่างๆมีแนวโน้มคลี่คลายลง ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ตลาดรถยนต์โดยรวมทั้งตลาดจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด คาดการณ์ยอดขายรถยนต์รวมปีนี้อยู่ที่ 800,000?850,000 คัน หรือขยายตัวที่ 5.4-12% โดยกลุ่มรถยนต์ที่มีปัจจัยบวก คือ กลุ่ม BEV (Battery Electric Vehicle) จากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ BEV ในประเทศ โดยคาดการณ์ยอดขายปี 65 ที่ 4,000-5,000 คัน ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 104.7%-155.9%

ขณะที่ผลประกอบการของลีสซิ่งกสิกรไทยในปี 64 สามารถขยายฐานสินเชื่อหรือยอดคงค้างสินเชื่อ (Outstanding Loan) ขึ้นมาที่ 121,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.46% โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อรถใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% สวนทางกับตลาดยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 64 ที่ติดลบ 4% และสินเชื่อรถช่วยได้เติบโต 31%

ผลการดำเนินงานในปี 64 ที่ยังมีแนวโน้มที่ดีมาจากกลยุทธ์การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าหลากหลายขึ้น รวมถึงลูกค้าฐานรากทั้งประเภทเช่าซื้อและจำนำทะเบียน ถึงแม้บริษัทได้เพิ่มบริการสินเชื่อรถใช้แล้วผ่านช่องทางเต็นท์รถยนต์ ซึ่งปกติจะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่บริษัทได้วางกรอบนโยบายเครดิตที่ทำให้สามารถควบคุมความเสี่ยงและตอบโจทย์ผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์ทั้งดีลเลอร์รถใหม่และรถใช้แล้ว

รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสามารถแบ่งเบาภาระเป็นจำนวนเกือบ 50,000 ราย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของลีสซิ่งกสิกรไทยในปี 64 อยู่ที่ 1.12% ลดลงจากปีก่อน อีกทั้งยังได้ทำการปรับปรุงกระบวนการทำงานและควบคุมค่าใช้จ่ายดีขึ้นส่งผลให้บริษัทมีกำไร 1,710 ล้านบาท เติบโต 52.86%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ