นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท (MCOT) กล่าวว่า บริษัทในฐานะผู้นำธุรกิจวิทยุที่ได้ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงมาอย่างยาวนาน ได้ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น
การยื่นประมูลแต่ละคลื่นความถี่พิจารณาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของ บมจ. อสมท ที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ใช้งบประมูลกว่า 500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนหมุนเวียน และเพิ่มเติมบางส่วนจากสินเชื่อสถาบันการเงิน โดยบริษัทมีศักยภาพชำระคืนภายใน 5 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ
"ผลการประมูลฯ เป็นที่น่าพอใจ โดย บมจ.อสมท เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด รวมทั้งสิ้น 47 คลื่น แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาคจำนวน 41 คลื่น ได้แก่ ภาคกลางและตะวันออก จำนวน 6 จังหวัด, ภาคเหนือ จำนวน 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด และภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด"
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับรองผลการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว MCOT จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติเพียงรายเดียว เนื่องจากมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทุกภูมิภาคตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด
สำหรับคลื่นวิทยุที่ MCOT ไม่ได้ยื่นประมูล รวมถึงประมูลไม่ได้ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งยังคงมีศักยภาพในการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทั่วประเทศไม่แตกต่างจากเดิม โดยสามารถใช้การออกอากาศกระจายเสียงจากสถานีข้างเคียง และร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเครือข่ายร่วมกัน
สำหรับแนวทางในการบริหารคลื่นความถี่วิทยุของ MCOT จะเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟังและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนมีความพร้อมด้านบุคลากร และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สตูดิโอ สถานีออกอากาศ เครื่องส่ง เป็นต้น บมจ.อสมท พร้อมสนับสนุนการให้บริการกับพันธมิตรทางธุรกิจและการให้บริการสังคม
หลังจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการ (Refreshing Organization Structure & Management) การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (Refreshing Program) การจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ (Broadcasting Time Allocation) ระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง และ การผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Traditional & Digital Platforms) รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ (On Ground Events)
MCOT ให้ความสำคัญกับความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยจะยังคงทำหน้าที่สื่อกลางในการเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และนำเสนอสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ถึงพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่
"อสมท จะพัฒนาคุณภาพรายการภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และรวดเร็ว" ขอฝากให้ติดตามความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้"