SCIB เตรียมสรุปพันธมิตรร่วมวางกลยุทธ์ 3ปีรุกรายย่อย/คาดปี 51พลิกมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 12, 2007 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เอ็มดีใหญ่แบงก์นครหลวงไทย(SCIB)ให้สัมภาษณ์พิเศษ"อินโฟเควสท์"คาดว่าธนาคารจะสรุปผลการคัดเลือกพันธมิตรทั้งจากไทยและต่างประเทศกว่า 20 รายที่แสดงความสนใจในเร็ว ๆ นี้ บาร์เคลย์-เอเอ็นแซดติดกลุ่มด้วย เพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อรายย่อยที่จะมุ่งเน้นเป็นแผนงานหลักในช่วง 3 ปี(ปี 51-53) พร้อมไปกับการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก โดยเร่งปรับโครงสร้างการบริหารงานทั้งแบงก์เพื่อรองรับแผนงานเป้าหมาย
ด้านผลประกอบการคาดว่าโอกาสพลิกทำกำไรในปี 51 จะมีไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท หลังหมดภาระตั้งสำรองพิเศษตั้งแต่ไตรมาส 3/50 ซึ่งทำให้ปีนี้มีผลขาดทุนสูงราว 3 พันล้านบาท ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPL)ในปีหน้าจะลดลงต่ำกว่า 5% จาก 8.06% ณ สิ้น ก.ย.50 และใน ม.ค.51 เตรียมขาย NPL บางส่วนจากที่มีอยู่ 2.1 หมื่นล้านบาท
*สถานการณ์เริ่มบีบให้เลือกพันธมิตร
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCIB มองว่าการหาพันธมิตรถือว่าจำเป็นสำหรับการขยายธุรกิจของธนาคาร โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาติดต่อมากกว่า 20 รายทั้งในประเทศและสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่ง SCIB และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ก็กำลังพิจารณาอยู่
และ ด้วยกระแสของแรงกดดันให้มีการเปิดการค้าเสรี และ การประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน เชื่อว่าคงจะสรุปเรื่องพันธมิตรได้ในไม่ช้านี้ เพราะขั้นตอนดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนกลยุทธ์ 3 ปีของธนาคารด้วย และถ้าธนาคารไม่ปรับตัวก็คงอยู่ไม่ได้
"เรายังไม่รู้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯจะขายออกไปเท่าไร อาจจะเพิ่มทุนเพื่อขายแบบ PP เพราะ SCIB ต้องการได้พันธมิตรเข้ามาช่วยธนาคารจริงๆ"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบัน กองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 47.85% ( ณ 5 เม.ย.50) และก่อนหน้านี้มีรายงานอ้างแหล่งข่าวว่าสถาบันการเงินต่างชาติ 2 รายที่กำลังเจรจากับ SCIB คือธนาคารบาร์เคลย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารในสัดส่วน 4.97% และ ธนาคารเอเอ็นแซดจากออสเตรเลีย
"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบาร์เคลย์ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร ทั้งให้ความรู้ ช่วยพัฒนาบุคลากร แต่ยังมีอีกหลายราย ไม่ว่าใครๆที่มีคุณสมบัติอย่างที่พูดไปแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น บาร์เคลย์ เขาก็มีเงิน มีระบบ มีความรู้ ส่วนเอเอ็นแซด เขาก็มีเงิน มีระบบ มีความรู้...เข้าใจว่าในไทยก็มียักษ์ใหญ่ที่คุยกับเรา และต่างประเทศที่เป็นธนาคารชั้นนำ บางรายเรามองว่าใช่ บางรายก็ไม่ใช่"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารจะไม่คัดเลือกพันธมิตรด้วยความรีบร้อนจนเกินไป เพราะต้องการให้ได้พันธมิตรที่มีความพร้อมและความรู้ในหลายๆ ด้านที่มาช่วยเสริมการทำงานได้จริง โดยเฉพาะด้านรายย่อย เอสเอ็มอี เทคโนโลยี และการบริหารความเสี่ยง และยิ่งถ้ามีฐานลูกค้าของตัวเองเพื่อมาเสริมด้วยก็จะยิ่งดีมาก ขณะที่ธนาคารกำลังเตรียมตัวเองให้พร้อมรับพันธมิตรใหม่เข้ามา โดยด้านฐานะธนาคารถือว่าเพียงพอ เพราะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 12% และเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 11%
"เขาก็มองว่าเรามีความพร้อมที่จะปรับตัวมากกว่าธนาคารอื่นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ เขาก็ได้ให้นโยบายกับเราและขอหลักการในการซื้อขาย ไว้ 3 ประการ คือ หนึ่ง การซื้อขายต้องโปร่งใสและอธิบายได้ สอง ใครที่เข้ามาเป็นพันธมิตรจะต้องเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับตัวธนาคารและสถาบันการเงินไทย สุดท้าย คือ ราคาที่ซื้อขายต้องสมเหตุสมผล"นายชัยวัฒน์ กล่าว
*ปรับโครงสร้างใหม่มีผล 25 ธ.ค.
ธนาคารปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่มีผลในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เป็นการเพิ่มสายงานใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเอสเอ็มอี และ retail อย่างมีคุณภาพ และมีผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละฝ่าย ซึ่งผู้บริหารจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เช่น ฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบฝ่าย retail โดยตรง รวมถึงฝ่ายเอสเอ็มอี และมีฝ่ายที่ดูแลเงินฝากโดยเฉพาะ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ธุรกิจเพื่อกระจายการให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น
"เราปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารใหม่เพื่อให้ธนาคารมีความพร้อมในการเติบโตทางธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย และแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ เราอยากจะเติบโตในด้านสินเชื่อ retail เราก็ต้องตั้งสายงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ จากเดิมที่เราไม่มีฝ่ายที่รับผิดชอบผลิตภัณฑ์เงินฝาก รวมถึงการตั้งศูนย์ธุรกิจ และการปรับระบบที่สนับสนุน cash management และ trade finance" นายชัยวัฒน์กล่าว
SCIB อยู่ระหว่างรอผลศึกษาแผนขยายสาขาต่อเนื่องในปีหน้าจากสถาบันศศินทร์ จากปัจจุบันที่มีสาขาทั่วประเทศ 404 สาขา และตู้เอทีเอ็มกว่า 1,600 เครื่อง
*แผนกลยุทธ์ 3 ปีรุกหนักสินเชื่อรายย่อย-SME เริ่มจากปีหน้า
กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCIB กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 51 จะมุ่งเน้นขยายสินเชื่อในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือเอสเอ็มอี และธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และบัตรเครดิต เพราะมองว่าเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดี
สอดคล้องกับแผนธุรกิจ 3 ปี (2551-2553) ของธนาคาร ที่จะปรับโครงสร้างสินเชื่อใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ และบัตรเครดิต ให้เป็น 25% ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 14%
"เราคงต้องเร่งขยายสัดส่วนสินเชื่อ retail เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารอื่นๆ ก็มีสัดส่วนสินเชื่อนี้สูงถึง 25% บางแห่งถึง 30% ขณะที่เรามีแค่เพียง 14% เท่านั้น เต็มที่สิ้นปีก็คงได้เพิ่มอีกนิดหน่อยเป็น 15%...SCIB เราชัดเจนในช่วง 3 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าจะมีสินเชื่อ Retail โตเป็น 25%" นายชัยวัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่และมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินจะทำให้สินเชื่อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สินเชื่อบุคคลที่คาดว่าจะเติบโตได้ตั้งแต่ต้นปี 51 โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขณะนี้เริ่มเห็นอัตราเติบโตกลับมาแล้ว จากที่ชะลอตัวไป 2 ไตรมาส
ส่วนสินเชื่อรายใหญ่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 51 ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 40% คงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย หากการลงทุนของภาครัฐออกมาล่าช้าก็อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อประเภทดังกล่าว
"ปีหน้าในภาพรวมก็เป็นปีที่ยากสำหรับการทำธุรกิจ เพราะมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ตัว เช่น ราคาน้ำมัน ปัญหาซับไพร์ม ตลอดจนตลาดเงินและตลาดทุน ก็หวังว่าจะมีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการกลับคืนมาหลังจากมีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาล แต่ที่สำคัญ คือ ใครจะไปใครจะมาในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในกระทรวงหลักๆ"นายชัยวัฒน์ กล่าว
*คาดปี 51 พลิกมีกำไรได้ 4 พันลบ.หลังหมดภาระตั้งสำรองพิเศษ
นายชัยวัฒน์ คาดว่า ในปี 51 ธนาคารจะพลิกสถานการณ์กลับมามีกำไรได้ตามปกติ หรือประมาณ 4 พันล้านบาท หลังจากหมดภาระการตั้งสำรองพิเศษตั้งแต่ไตรมาส 3/50 ซึ่งทำให้ผลประกอบการในปี 50 ขาดทุนประมาณ 3 พันล้านบาท
"หลังจากเรากันสำรองพิเศษตามเกณฑ์คุณภาพครบแล้วเมื่อไตรมาสที่แล้ว เราเชื่อว่าผลประกอบการจะกลับมาสู่ภาวะปกติ นั่นคือ กำไรประมาณใกล้ๆ 1,000 ล้านบาทต่อไตรมาส ทั้งปีก็ประมาณ 4,000 ล้านบาท"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ธนาคารได้ตั้งสำรองสินเชื่อตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IAS 39 และเกณฑ์การจัดชั้นคุณภาพของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3/50 และในไตรมาส 4/50 มีแต่คงไม่จำเป็นต้องกันสำรองพิเศษอีก แต่เป็นเพียงการกันสำรองปกติ
"คาดว่าในปี 50 จะมีผลขาดทุนเกือบ 3 พันล้านบาท แต่ถ้าดูผลประกอบการจริงๆแล้วจะพบว่าในช่วง 10 เดือนแรกธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 5 พันกว่าล้านบาท แต่ที่ต้องขาดทุนเป็นผลมาจากการตั้งสำรองพิเศษตามเกณฑ์"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/50 ธนาคารมีนโยบายกันสำรองแบบเบ็ดเสร็จในคราวเดียว จึงตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,618 ล้านบาท ภายหลังหักสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อขาดทุนการปรับมูลค่าจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และภาษีเงินได้แล้ว ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/50 จำนวน 3,968
ล้านบาท
ส่วน Gross NPL ของธนาคารในปีหน้าตั้งเป้าลดลงให้เหลือต่ำกว่า 5% จาก 8.06% หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ณ ก.ย.50 ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 NPL ของธนาคารจะลดลงอีกเล็กน้อยเหลือประมาณ 7% กว่าๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากธนาคารสามารถขาย NPL ได้ภายในปีนี้ Gross NPL ของธนาคารก็จะลดลงอีกเหลือ 5% กว่าๆ
"ขณะนี้เรามีนโยบายขาย NPL บางส่วนออกไป แต่กำลังรอดูจังหวะอยู่ ถ้าไม่ทันปีนี้ก็อาจจะเป็นต้นปีหน้า ซึ่งคงจะสรุปอย่างช้าไม่เกินไตรมาส 1 ทำให้ Gross NPL มีโอกาสลดลงต่ำกว่า 5% และเราก็ไม่ต้องมาเสียเวลากับ NPL บางตัวที่ไม่สามารถแก้ไขได้"กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCIB กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตมากกว่าปีนี้ที่อัตราการเติบโตสินเชื่อสุทธิอยู่ที่ 6% หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 49 ที่ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งสินเชื่อในปีนี้เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ธนาคารได้ลดเป้าสินเชื่อลงมาครั้งหนึ่งแล้วจากเดิมที่ 14% หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร หรือ spread ขณะนี้ อยู่ที่ 3% กว่าๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นปี เนื่องจากต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) ของธนาคารลดลง ทำให้ Net Interest Margins (NIM) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วน spread ในปีหน้าก็จะพยายามรักษาให้อยู่ใกล้เคียงในระดับ 3%
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย หรือรายได้จากค่าธรรมเนียมในปี 51 ตั้งเป้าเติบโต 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 2 พันล้านบาท หรือเพิ่มเป็นประมาณ 3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริษัทในเครือ และจากนี้ไปก็จะเห็นการทำงานของธนาคารนครหลวงไทยร่วมกับบริษัทในเครือมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้กลับมาที่บริษัทแม่
บริษัทในเครือ ได้แก่ บล.นครหลวงไทย บลจ.นครหลวงไทย บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย, บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง(THANI) และ บริษัทประกันชีวิตแม็กซ์ จำกัด ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด
"รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปีนี้ คาดว่าจะได้ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับปี 49 ถือว่าโต 0% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 18% เพราะปีนี้ธนาคารมีปัญหาในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมไม่เติบโต โดยขณะนี้ธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมที่ 14% ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้นี้ที่ 19%"นายชัยวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ