บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 7 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A-" อีกด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปใช้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและใช้เป็นเงินลงทุนตามแผนงาน
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 64 ยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 1.18 แสนล้านบาท ในปี 64 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจถุงมือยางคงอยู่ที่ 40% ของรายได้รวมในช่วงปี 63-64 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 31% ในปี 64 จากระดับ 29% ในปี 63 ซึ่งสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มมากขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง
ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับ 3.25 หมื่นล้านบาทในปี 64 เมื่อเทียบกับระดับ 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 63 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิในปี 64 ที่จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาทเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 9.5 พันล้านบาทในปี 63
สถานะทางการเงินยังคงแข็งแรง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22.4% ณ เดือนธันวาคม 64 จากระดับ 10.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 63 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 19%-23% ในช่วงปี 65-67
ทริสเรทติ้ งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสภาพคล่องที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 2.7-4.4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 65-67 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 64 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกกว่า 2.33 หมื่นล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความยั่งยืนของอุปสงค์ถุงมือยาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และการปรับปรุงประสิทธิภาพและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ดีขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างงเงินทุนและกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 1.0-1.5 หมื่นล้านบาทเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 4 เท่า นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน