นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 65 เตรียมเข้าประมูลงานใหม่ทั้งส่วนงานภาครัฐบาลและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกลุ่ม STI มีงานในมือ (Backlog) อยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท คาดทยอยรับรู้รายได้ในปี 2-3 ปี แบ่งสัดส่วนเป็นงานของภาครัฐบาล 70 % และเอกชนสัดส่วน 30 %
นอกจากนี้ STI มีแผนขยายความเชี่ยวชาญไปยังลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเริ่มมีส่วนร่วมในงานโรงพยาบาลมากขึ้น อาทิเช่น โครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา มูลนิธิรามาธิบดี อีกทั้งยังมีโครงการสวนสาธารณะส่วนงานที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างโครงการสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2 และ 3, งานศูนย์ราชการในส่วนที่ปรึกษาคุมงานโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่
และเมื่อรวมกับบริษัทในเครือ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) ซึ่งเชี่ยวชาญโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น งานท่าอากาศยานในส่วนที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน เฟส1 และมีงานโครงสร้างพื้นฐานและงานสาธารณูปโภคของภาครัฐอยู่ในมืออย่างต่อเนื่อง
"ปี 64 จึงถือเป็นปีแห่งความท้าทาย ที่เราต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารอย่างทันท่วงที จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้บางโครงการต้องชะลอจากแผน แต่ด้วยจุดเด่นของ STI ที่มีโครงการในมือที่หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ ที่มีเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล และงานภาคเอกชน สะท้อนโดยผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี บริษัทฯมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 25% และยังมีโปรเจ็คต์ที่รอเปิดตัวในปี 65 สร้างโอกาสให้ STI ในปี 65 ตั้งเป้ารายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท และก้าวที่สำคัญหลังจากที่เพิ่มทุนด้วยการจ่ายหุ้นปันผล ทำให้เรามีความพร้อมที่จะยื่นคำขออนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อย้ายขึ้นไปซื้อขายที่ SET" นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วนผลประกอบการงวดปี 64 STI ผนึกกำลังบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้มีรายได้จากการให้บริการรวมของกลุ่ม STI จำนวน 1,732.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจบริหารและควบคุมงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น 220.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการรวมรายได้เต็มปี 64 ของ AEC ในปี 64 ในขณะที่ปีก่อนรวมรายได้เพียง 8 เดือน
ส่วนรายได้จากการให้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนของบริษัทในกลุ่ม STI เดิม มีการลดลงเล็กน้อยเป็นผลจากการพัฒนาโครงการบางส่วนมีการชะลอตัวเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่โครงการหลักๆยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ One Bangkok โครงการปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการอาคารชุดพักอาศัยหลายโครงการ โครงการอาคารสำนักงาน และโครงการประเภทอาคารอเนกประสงค์
ด้านรายได้จากธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมและธุรกิจอื่นมีจำนวนลดลง 57.9 ล้านบาท หรือลดลง 16.6% โดยมีสาเหตุหลักเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเช่นเดียวกันทำให้งานบริการในธุรกิจนี้มีความล่าช้าไม่สามารถดำเนินการเพื่อส่งมอบงานได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะงานบางส่วนของ AEC ที่มีงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดประชุมสาธารณะหรืองานสำรวจโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้สถานการณ์โควิด ในขณะที่กลุ่มบริษัทมีการรับรู้รายได้จาก AEC ในปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากโครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา- หนองคาย
กำไรขั้นต้น 507.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 29.3% ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 31.8% ขณะที่มีกำไรสุทธิสำหรับปีอยู่ที่ 144.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม 8.3% ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวมที่ 9.5% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้เกิดต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากงานพัฒนาโครงการบางส่วนที่มีการชะลอตัวและงานบริการบางส่วนไม่สามารถดำเนินการเพื่อส่งมอบงานได้ตามแผนที่วางไว้