DTAC เตรียมพร้อมรุกธุรกิจ Mobile Broadband-คาดรายได้ปี 51 โต 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2007 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)เปิดแผนปี 51 ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 10% โดยมีค่า Interconnection Charge(IC)เป็นปีแรก เป็นการเติบโตทิศทางเดียวกับภาพรวมอุตสาหกรรมที่คาดว่าปีหน้า จากปีนี้ที่ตลาดโดยรวมแทบไม่เติบโต แต่ DTAC ยังสามารถผลักดันรายได้โต 5-10%(ไม่รวม IC)ตามเป้าที่ปรับลดลงจากเป้าหมายครั้งแรกที่ตั้งไว้ที่ 10-15% 
พร้อมทั้ง คาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน(ARPU)ในปีหน้าจะรักษาไม่ให้ลดต่ำลง หรือใกล้เคียง 363 บาทในไตรมาส 3/50 ซึ่งเชื่อว่าการแข่งขันในปีหน้าจะไม่มีสงครามราคาหนัก เพราะมีต้นทุนจากการเก็บค่า IC แต่จะหันมาเน้นบริการที่ดีเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ขณะเดียวกันเร่งเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ในต่างจังหวัดที่ DTAC ยังมีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่ารายใหญ่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งเจาะลูกค้า SME และกลุ่มวัยรุ่น
DTAC ยังมุ่งหน้ารุกตลาดอินเตอร์เน็ตไร้สายผ่านมือถือ(Mobile Broadband)หลังตลาด Voice เริ่มอิ่มตัว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการได้ใบอนุญาต 3G ที่คาดจะสามารถยื่นขอได้ครึ่งหลังปี 51 แต่กว่าจะเริ่มธุรกิจได้คงเป็นปี 52 เชื่อตลาดยังมีโอกาสเติบโตสูง
*ปี 51 คงเป้าเก็บยอดลูกค้าใหม่ 30% ของตลาดรวม
นายซิคเว่ กล่าวว่า ในปี 51 บริษัทก็ยังตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาด 30% ของยอดลูกค้าใหม่ที่บริษัทคาดว่าตลาดรวมจะมียอดลูกค้าใหม่ 7-10 ล้านเลขหมาย โดยคาดว่าภาพรวมจะมีสัดส่วนการใช้มือถือต่อประชากร(Penetration Rate)สูงถึง 100% จากปี 50 ที่คาดจะมีสัดส่วน 80%
บริษัทมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ตัวเมือง โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ซึ่งปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งตลาดในต่างจังหวัด 32% ต่ำกว่า บมจ.แอ็ดวานซ์ อินโฟร เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นที่หนึ่งทั้งในตลาดต่างจังหวัด และทั่วประเทศ ดังนั้น บริษัทจึงเตรียมขยายสถานีฐานเพิ่มอีก 1,500 แห่งเพื่อรองรับตลาดดังกล่าว แต่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนต่ำกว่าปีก่อนที่มีงบลงทุน 1.25 หมื่นล้านบาท
บริษัทยังเน้นเจาะกลุ่มลูกค้า SME และ กลุ่มวัยรุ่นกับนักเรียน ซึ่ง DTAC ยังมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มเหล่านี้น้อยอยู่ โดยบริษัทได้ปรับโครงสร้างเพิ่มผู้บริหารต่างประเทศที่จะเข้ามาดูแลทั้งสองกลุ่มเป็นหลัก พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์และออกแคมเปญให้ตอบสนองแต่ละกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ เพราะขณะนี้ทุกรายมีอัตราการยกเลิกการใช้บริการ (Churn Rate) สูงมาก
"สภาพการแข่งขันในปีหน้าจะเปลี่ยนไป เปอร์เซนต์ Churn Rate ในตลาดสูง เราต้องหาทางรักษาลูกค้าเดิมไว้ พยายามเพิ่มลูกค้าชั้นดี" นายซิคเว่ กล่าว
ส่วนกรณีข้อพิพาทที่ทางบมจ.ทีโอที ฟ้องศาลแพ่งเรียกร้องให้บริษัทชำระค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(AC) เป็นเงินจำนวน11,705 ล้านบาทนั้น นายซิคเว่ กล่าวว่า บริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนของศาลและให้ขึ้นอยู่กับกระบวนการตัดสินของศาล รวมทั้งไม่ได้รับการติดต่อให้มีการไกล่เกลี่ยเรื่องนี้
ทั้งนี้ DTAC ได้หยุดจ่ายค่า AC กับทีโอที ตั้งแต่ พ.ย.49 และเริ่มใช้ IC ในเดือนก.พ.50
*เชื่อ ARPU Q4/50 และปีหน้าไม่ปรับลง
นายซิคเว่ ยอมรับว่าในไตรมาส 2/50 และ ไตรมาส 3/50 ตลาดโทรศัพท์มือถือซบเซามากทำให้ยอด ARPU ลดลงไป 5-6% จากปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 3/50 ยอดลูกค้าใหม่เพิ่มเพียง 4 แสนรายซึ่งต่ำกว่าคู่แข่ง แต่รายได้ของบริษัทก็ยังเติบโต โดยเพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อน
ทั้งนี้ ARPU ของบริษัทได้ลดลงมาตลอด จากไตรมาส 1/50 เฉลี่ยอยู่ที่ 449 บาท ในไตรมาส 2/50 เหลืออยู่ 384 บาท และ ลดลงมาที่ 363 บาทในไตรมาส 3/50
แต่ในไตรมาส 4/50 คาดว่า ARPU จะไม่ต่ำกว่าไตรมาส 3/50 แต่รายได้ และ ลูกค้าใหม่ (Net Add)จะสูงกว่าไตรมาส 3/50 ที่มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท และ จำนวนผู้ใช้บริการใหม่เพิ่มขึ้น 401,888 ราย เพราะมีการใช้งานมากขึ้น
"ARPU ปีนี้ปรับลงเป็นธรรมชาติ เพราะว่าเราได้ลูกค้าใหม่ในต่างจังหวัดมากขึ้นซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานน้อย แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ARPU ของเราลงน้อยคู่แข่ง ปีหน้าคง keep ให้เป็น flat" นายซิคเว่ กล่าว
นายซิคเว่ คาดว่าทั้งปี 50 จะมียอดลูกค้าใหม่มากกว่า 3 ล้านเลขหมาย และมียอดลูกค้ารวม 14.9 ล้านเลขหมาย ทำให้เชื่อว่า DTAC จะสามารถมีส่วนแบ่งตลาด 30% ของยอดลูกค้าใหม่ตามแผนได้ จากตลาดรวมที่คาดว่าจะมียอดลูกค้าใหม่ 8-10 ล้านเลขหมายในตลาดรวม
*เล็งรุกตลาด Mobile Broadband ในปี 52
นายซิคเว่ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง(Broadband) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังมองว่าตลาด Voice เริ่มอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ อัตราการใช้ Broadband ในไทยมีเพียง 13-15% ของประชากร ซึ่งยังเห็นว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก
ปัจจุบัน DTAC ให้บริการ EDGE ซึ่งมีความเร็วเทียบเท่ากับการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ ADSL ของโทรศัพท์พื้นฐาน แต่หากบริษัทได้รับใบอนุญาต 3G จะยิ่งเพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยบริษัทได้เตรียมพร้อมขอใบอนุญาต 3G คาดว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)จะเปิดรับในครึ่งหลังปี 51 และกว่าจะเริ่มดำเนินการได้คาดว่าจะเป็นปี 52
"Broadband ขึ้นอยู่กับการได้ใบอนุญาต 3G ปีหน้าอาจจะยังไม่เห็น เพราะกว่าจะลงทุนก็คิดว่าจะเริ่มได้ในปี 52"ประธานเจ้าบริหาร DTAC ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
อย่างไรก็ตาม นายซิคเว่ มองว่า เงินลงทุนสำหรับระบบ 3G ไม่ได้สูงอย่างที่คาดการณ์กันไว้ เพราะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ 3G บนโครงข่ายเดิม
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจด้าน Wi-Fi หรือ อินเตอร์เน็ตไร้สาย ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต แต่ WiMax หรือ อินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงระยะไกลต้องขอใบอนุญาตซึ่งเตรียมขอใบอนุญาต รวมถึงได้เตรียมการขอใบอนุญาต Fixed Broadband ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ