(เพิ่มเติม) EGCO ทุ่มงบ 3 หมื่นลบ.ในปี 65 ต่อยอดพลังงานหมุนเวียน–ผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 3, 2022 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ประกาศตั้งงบลงทุน 3 หมื่นล้านบาทในปี 65 แสวงหาโอกาสสร้างการเติบโตตามทิศทางพลังงานโลก ต่อยอดความสำเร็จด้านพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาผ่าน บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง ในสหรัฐ ควบคู่พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน (Hydrogen to Power) ตอบโจทย์อนาคต เจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินลงทุนจำนวน 8,000 ล้านบาท ในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการก่อสร้าง โดยเป็นโครงการของ เอเพ็กซ์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 60 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตรวม 22,303 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 125 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19,979 เมกะวัตต์, โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์

นอกเหนือจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล (หยุนหลิน) (EGCO ถือหุ้น 25%) การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 71.30% โดยปัจจุบันกังหันลม 9 ต้น 72 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งมีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้าราว 80% และความเร็วลมเฉลี่ย 10-20 เมตรต่อวินาที ณ เดือน ม.ค.-ก.พ.65, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หรือน้ำเทิน 1 (เอ็กโกถือ 25%) มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/65 ซึ่งมีความคืบหน้าฯ ไปแล้ว 96.67% รวมถึงโครงการการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน หรือไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค กำลังการขนส่ง 5.443 ล้านลิตรต่อปี (เอ็กโกถือ 44.6%) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 1/65 เป็นต้น

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอื่นๆ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง โดยอยู่ระหว่างการออกแบบนิคมฯ มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 66, โรงไฟฟ้าเอ็กโกโคเจน (ส่วนทดแทน) กำลังการผลิตติดตั้ง 100-110 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ปี 67 ปัจจุบันได้รับอนุมัติ EIA แล้ว คาดเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 65 และการลงทุนในบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

ขณะที่อีกจำนวน 22,000 ล้านบาท จะใช้ในโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งปัจจุบันก็มีการเจรจากับพันธมิตรอยู่หลายราย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าปีนี้จะมีทั้งหมดกี่ดีล โดยมั่นใจว่าจะหาโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 30 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 5,959 เมกะวัตต์ (ไม่นับรวมการลงทุนในเอเพ็กซ์ฯ) โดยเป็นโครงการที่ COD แล้วจำนวน 5,656 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 303 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทจะขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจหลักด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานในรูปแบบ Smart Energy Solution เพื่อให้สอดรับกับทิศทางในการดำเนินธุรกิจ Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth ด้วยการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 93 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 10% ภายในปี 73

บริษัทฯ ยังได้ร่วมกับพันธมิตร และ กฟผ. ศึกษาและพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (SOFC) และเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (SOEC) ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต ด้วยจุดเด่นด้านการติดตั้งที่ง่ายและยืดหยุ่น การผลิตไฟฟ้าที่สม่ำเสมอและเชื่อถือได้ รวมทั้งมีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศและน้ำที่ต่ำมากจนเกือบจะเป็นศูนย์ จึงเป็นการปิดจุดอ่อนของการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วในประเทศสหรัฐ,ญี่ปุ่น, อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมกำลังผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์

สำหรับผลประกอบการในปี 65 คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากการดำเนินงานแบบเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ลินเดน โคเจน และการลงทุนใน บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง ในสหรัฐ และการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ 3 โครงการ ที่จะเปิดดำเนินการและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว รวมถึงการทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน

ส่วนแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยืนยันบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทหรือกว่า 98% ถูกส่งต่อ (Passthrough) ไปยังผู้ซื้อไฟได้ทั้งหมด ขณะที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม (IU) เล็กน้อยเพียง 2% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ