หุ้น DTAC ราคาพุ่งขึ้น 6.80% มาอยู่ที่ 39.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 153.08 ล้านบาท เมื่อเวลา 15.27 น. โดยเปิดตลาดที่ 37.25 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 39.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 37.00 บาท
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.สินเอเซีย แนะ"ซื้อ"หุ้นของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)เพื่อเก็งกำไร ที่ราคาเป้าหมายปี 51 เท่ากับ 45 บาท โดยมีมุมมองที่ดีกับแนวโน้มการเติบโตใน 4Q50 โดยคาดว่ากำไรปกติ 4Q50 จะเพิ่มขึ้น 27.1% YoY และ 19.3% QoQ มาอยู่ที่ 1,632 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบปี และต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 13.5% ต่อปี ในช่วงปี 50 — 53
ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการ 4Q50 ฟื้นตัว เนื่องจากเป็นช่วง High Season ของอุตสาหกรรม ที่มีเทศกาลค่อนข้างมาก ซึ่งปกติจำนวนนาทีในการใช้บริการต่อเลขหมาย (MOU) มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น กอปรกับ DTAC ได้มีการปรับอัตราการค่าบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถเพิ่มอัตราค่าบริการกับลูกค้าเดิมไปแล้วประมาณ 30% จึงคาดว่า Blended ARPU จะชะลอการปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันก็คาดว่ายอดผู้ใช้บริการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย จากผลของการกระตุ้นตลาดโดยการรีแบรนด์ดิ้ง และการออกโปรโมชั่นใหม่ โดยเฉพาะซิมฝาแฝดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
แต่ปัจจัยสำคัญของการเติบโตมาจากต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่ลดลงหลังเปลี่ยนมาใช้ IC ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และกำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล
โดยยังคงให้น้ำหนักในการใช้ IC มากกว่า AC ด้วยเหตุผลสนับสนุนในการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่เป็นระบบสากล และสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงมากกว่า และถ้าจะให้ DTAC และ True move กลับมาใช้ AC หรือจะให้จ่ายทั้ง AC และ IC ก็จะขัดกับพื้นฐานของหลักการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยความคลุมเครือของการตีความในแง่ของกฎหมาย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าตัดสินใจ เรื่องจึงต้องจบลงที่ศาล ซึ่งเป็นประเด็นที่มิอาจคาดการณ์ได้ ทำให้ประเด็นดังกล่าวยังคงกดดันราคาหุ้นต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจน
ในกรณีที่แย่ที่สุดที่ได้ประเมินไว้ หากมีการจ่ายชำระเงินค่า AC ที่ค้างชำระอยู่เพื่อยกเลิกสัญญา และเริ่มใช้ IC กันใหม่ในปี 52 คาดว่าจะทำให้มูลค่าหุ้นลดลงประมาณ 5.65 บาท และทำให้ Net D/E Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 เท่า จากเดิมที่คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 0.5 เท่าในปีดังกล่าว ภายใต้สมมติฐานยอดค้างชำระค่า AC รวมกับดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ที่ 44,300 ล้านบาท และได้รับค่า IC รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายสูงกว่าการคำนวณแบบ AC ที่มีการจ่ายชำระไปแล้วคืนประมาณ 12,500 ล้านบาท โดยการจัดหาเงินทุนจะมาจากการกู้ยืมทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาจากตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่าคดียิ่งจบเร็วไหร่จะยิ่งเป็นประโยชน์กับ DTAC มากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าหากผลการตัดสินยืดเยื้อ มูลค่าความเสียหายจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในแง่ลบกับมูลค่าหุ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ หาก DTAC เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีการยกเลิกสัญญา AC ตามสมมติฐานที่คาดไว้
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--