นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Metaverse Thailand หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ SPECIAL FORUM METAVERSE โลกเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกใบใหม่นี้ ? ในหัวข้อ "เมืองไทยพร้อมแค่ไหนในจักรวาลนฤมิต" ว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัททั่วโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ Metaverse มากขึ้น ยกตัวอย่าง Facebook ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta หรือบริษัทอื่น ๆ ทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิง เกม กีฬา อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการศึกษาก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่โลก Metaverse เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต และหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
นายปริญญ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาพยายามผลักดันยุทธศาสตร์ "คอนเทนท์สร้างชาติ" สนับสนุนคอนเทนท์ที่มาจากเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งถ้านำยุทธ์ศาสตร์ดังกล่าวมาปรับใช้กับโลก Metaverse จะสามารถสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับคนไทยได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาใช้ศักยภาพในโลก Metaverse ได้อย่างเต็มที่ และต้องมีข้อกำหนดที่เหมาะสมเพื่อจัดการด้านศีลธรรมและธรรมาภิบาลด้วย
"ถ้าเรานำเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าเกษตร สมุนไพร ศิลปะวัฒนธรรม เพลง ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ มาโปรโมทผ่านทาง Metaverse นำความสวยงามต่าง ๆ มานำเสนอในโลกเสมือนจริงนี้ได้ ชาวต่างชาติเขาก็จะได้เห็นภาพตัวอย่างก่อน ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ยิ่งเราเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้าน Medical Tourism อยู่แล้ว เรามีดีทั้งด้านการท่องเที่ยว โรงแรม การรักษาพยาบาล และถ้าหากว่าคนไทยไม่ปรับตัวเข้าสู่โลกเสมือนจริงนี้ เราก็จะเสียโอกาสอย่างมหาศาล" นายปริญญ์ กล่าว
ด้านนายปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย หรือ กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนได้เข้าสู่โลกดิจิทัลไปแล้ว อย่างที่ผ่านมาหากมีนโยบาย Work from Home ก็สามารถทำงานออนไลน์ได้จากทุกพื้นที่ ดังนั้นในอนาคต โลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse จะค่อย ๆ เติบโตและเข้ามามีผลกับชีวิตของเรามากขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางด้านการเงิน แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่อง Knowledge หรือ การศึกษาและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่น้อยเกินไป นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่โลก Metaverse
"ประเทศไทยลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปพอสมควร ทั้งเครือข่าย 5G หรือ Broadband Technology ส่วนเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการเงิน เราก็ไม่น้อยหน้าใคร เรามีอัตราการใช้ Cryptocurrency สูงที่สุดในโลก แต่ส่วนที่วิกฤติคือ เราขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยต้องการบุคลากรด้านไอทีปีละประมาณ 1 แสนคน แต่ภาครัฐผลิตเด็กจบใหม่ด้านนี้ได้แค่ปีละ 2 หมื่นกว่าคน ซึ่งตัวแปรสำคัญมาจากการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่น้อยเกินไป ส่งผลให้คนไทยมีความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีค่อนข้างยาก" นายปฐมกล่าว
นายปฐม กล่าวอีกว่า สำหรับภาคธุรกิจที่จะเดินหน้าเข้าสู่โลกเสมือนจริงนี้ ควรมองภาพในเชิงระบบนิเวศทางธุรกิจ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ถ้าหลายองค์กรมารวมตัวกันจะสามารถดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่ใน Ecosystem ได้ง่ายขึ้นและสามารถขยายโลก Metaverse ได้รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่างคือ ประเทศไทยอาจเริ่มต้นจากสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว อาจจะนำบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเข้าไปเป็นบริษัทในเครือเพื่อสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่งได้