SAMTEL คว้างาน Smart Meter กฟภ.ราว 2.36 พันลบ.รุกหนักชิงงานดิจิทัลภาครัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 8, 2022 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SAMTEL คว้างาน Smart Meter กฟภ.ราว 2.36 พันลบ.รุกหนักชิงงานดิจิทัลภาครัฐ

นายจง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับหนังสือสั่งจ้างงานโครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่บริษัทร่วมกับ บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ร่วมประมูลในนาม STS Consortium เป็นเงินทั้งสิ้น 2,359,962,040 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

บริษัทระบุว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ก่อให้เกิดวิถีชีวิตถัดไปในรูปแบบ Next Normal เช่น สังคมไร้เงินสด การทำงานทางไกล การเรียนการสอนออนไลน์ การทำธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐเองจึงได้ปรับตัวและให้ความสำคัญ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Government e-Service เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัล

บริษัทมีความชำนาญและพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร รวมถึงการดำเนินการให้บริการภาครัฐในรูปแบบ Digital Solution Outsource Service จึงเห็นโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ร่วมเสริมศักยภาพการบริการดิจิทัลภาครัฐ (Government e-Service) ไปสู่ความสำเร็จ และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่รัฐจะได้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ลดภาระในการสรรหาบุคลากรที่มีความชำนาญ ไม่ต้องลงทุนเพื่อซื้อเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่เสมอ ช่วยลดการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การให้บริการ Digital Solution Outsource Service ไปที่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. Government Service Outsource เน้นให้บริการธุรกรรมต่างสาขา ได้แก่ การซื้อ-ขาย โอนทรัพย์สิน และการบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการเข้าถึงของประชาชน เช่น การตรวจสอบสิทธิ สถานะบริการ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท

2.Utility Sector ได้แก่ การให้บริการ Advance Utility Infrastructure เพื่อช่วยยกระดับบริหารจัดการองค์กร บริการระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP) รวมถึงบริการดูแลรักษาระบบต่างๆ และ บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น โดยคาดว่ามีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่ 3. Banking Sector ให้บริการด้าน Digital Banking และบริการ Smart Branch Services เป็นต้น โดยคาดว่ามีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 750 ล้านบาท ทำให้มูลค่าโครงการรวมจากเฉพาะ 3 กลุ่มหลักนี้อยู่ที่กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทได้เตรียมพร้อมโซลูชันที่ครอบคลุมรอบด้านแบบครบวงจร ที่คาดว่าเหมาะสมและสามารถตอบโจทย์การยกระดับการให้บริการของภาครัฐไปสู่ดิจิทัลได้ ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ช่วยให้คำแนะนำ วิเคราะห์ปัญหา คัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้มั่นใจว่าองค์กรจะได้โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง

โดยได้จัดแบ่งโซลูชันออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. Data Integrity & Infrastructure โซลูชันเพื่อการจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงปลอดภัย เช่น Network & Cyber Security, Data Governance & Protection 2. Competitiveness Enhancement โซลูชันเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น Big Data, AI Analytics และ 3. e-Filling Services โซลูชันเพื่อส่งมอบบริการครบวงจรถึงมือประชาชน ซึ่งรวมถึงด้านการยืนยันตัวตนและความถูกต้องของข้อมูลดิจิทัล (Digital Verification) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เป็นต้น

ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการในลักษณะนี้กับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมาแล้วหลายโครงการ เช่น บริการบำรุงรักษาอุปกรณ์ และดูแลรักษาระบบอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้กับองค์กรด้านสาธารณูปโภค บริการด้านระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP) ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริการเฝ้าระวังการโจมตีทางไซเบอร์ (SOC Service) ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงิน เป็นต้น ซึ่งจากฐานลูกค้าเดิม ประกอบกับหากบริษัทได้ให้บริการตามกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ดังที่กล่าวมา บริษัทจึงมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 7 พันล้านบาทในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ