CNT เป้ารายได้ปี 65 ที่ 6.5 พันลบ.จาก Backlog 1.25 หมื่นลบ.หวังงานใหม่ 6.5 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 8, 2022 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 65 ที่ 6.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมจากปีที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัททำรายได้ในปีก่อนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยทำรายได้ในปีก่อนที่ 6.15 พันล้านบาท จากการที่โควิด-19 ในช่วงกลางปีก่อนมีการแพร่ระบาดและมีมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อแผนการก่อสร้างโครงการที่ต้องเลื่อนการส่งมอบออกมาจากแผนเดิม

โดยปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ แต่กิจกรรมการก่อสร้างต่างๆยังคงสามารถดำเนินการได้ปกติ ทำให้ไซต์ก่อสร้างของบริษัทยังคงดำเนินงานตามปกติ และในปีนี้คาดว่าจะมีการทยอยส่งมอบงานโครงการให้กับลูกค้าได้ตามแผนงาน หากไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นเหมือนปีก่อน

บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ในสิ้นปี 64 ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบงานในปีนี้กว่า 50% ของ Backlog

ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทยังคงมีการติดตามงานประมูลโครงการจากภาครัฐและเอกชนมูลค่ารวม 2.1 หมื่นล้านบาท โดยคาดหวังในการคว้างาน 6.5 พันล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าประมูลงานโครงการของภาคเอกชนที่เปิดประมูลไปแล้วรวม 2 พันล้านบาท ซึ่งสามารถได้รับงานเข้ามา 442 ล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงเดินหน้าประมูลงานที่ริษัทติดตามมูลค่ารวม 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะได้รับงานเข้ามาเติมใน Backlog รองรับรายได้ในอนาคต

สำหรับภาพรวมของงานโครงการในปีนี้บริษัทมองว่าจะมีปริมาณงานโครงการที่เปิดประมูลเพิ่มมากขึ้น หลังจากภาพรวมของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แม้ยังคงมีการแพร่ระบาดโควิด-19 มาต่อเนื่อง แต่มองว่าหากยังไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น จะไม่มีผลกระทบต่อการผลักดันโครงการใหม่ๆออกมาเปิดประมูล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ภาคเอกชนเริ่มมีการทยอยเปิดประมูลงานใหม่ออกมามากขึ้น ในขณะที่งานโครงการภาครัฐคาดว่าจะเริ่มทยอยออกมาในช่วงไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่บริษัทให้ความสำคัญในช่วงนี้เป็นเรื่องของต้นทุนการก่อสร้างที่มีแนวโน้มสุงขึ้น จากปัจจัยของรัสเซียและยุเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมัน ราคาโลหะต่างๆปรับสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะต้นทุนเหล็กที่เริ่มเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนเหล็กซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ ขณะที่ต้นทุนปูนซีเมนต์ยังคงทรงตัวจากปีก่อนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว แต่มองว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หลังจากนี้หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังคงมองถึงการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ผลกระทบจากต้นทุนการก่อสร้างมีผลต่อผลการดำเนินงานน้อยที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ