ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ส่ง บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ร่วมลงทุนในซีเนียส (Zenius) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านการศึกษาขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าการเพิ่มทุนรวมกว่า 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หวังต่อยอดความร่วมมือในการสร้างฐานลูกค้าให้บริการการชำระเงินและเจาะตลาดสินเชื่อเพื่อการศึกษาในอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ KBANK และประธานกรรมการ เควิชั่น เปิดเผยว่า เควิชั่น ทำหน้าที่เป็นบริษัทลงทุนของ KBANK เดินหน้าค้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมที่จะต่อยอดการใช้งานของลูกค้าธนาคารในตลาดภูมิภาค AEC+3 อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 4 ของโลก
นอกจากนี้ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะกว้างใหญ่ ส่งผลให้มีการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงการใช้งานของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Education Technology หรือ EdTech) ภายในประเทศที่มีการขยายตัวเนื่องจากปัจจุบันประเทศมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ธุรกิจการศึกษาประเภทการสอนพิเศษนอกเวลาเรียน (Supplementary Education) การกวดวิชาเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และหลักสูตรการสอนเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ (Skill Development) ในประเทศอินโดนีเซีย มีแนวโน้มเติบโตสูง และอยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับการใช้งานของประชากรที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กาะต่าง ๆ
ล่าสุด เควิชั่น ได้ร่วมลงทุนใน ซีเนียส (Zenius) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Education Technology Platform) ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพด้วยยอดการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันที่สูง (High engagement rate) มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกว่า 20 ล้านครั้ง และมีหลักสูตรที่หลากหลายครอบคลุมทั้งวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน รวมทั้งทีมผู้บริหารซีเนียสที่มีประสบการณ์ทั้งในภาคการศึกษาและการทำธุรกิจเทคสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น
การลงทุนครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปร่วมทำงานกับซีเนียสในการพัฒนาบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาบนดิจิทัลให้แก่ชาวอินโดนีเซียได้ในอนาคต ทั้งบริการระบบการชำระเงินและธุรกรรมต่าง ๆ และบริการด้านสินเชื่อเงินกู้ยืมสำหรับการสมัครเรียนคอร์สออนไลน์ โดยคาดการณ์ว่าลูกค้าของซีเนียส โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีความมั่นคงทางการเงินจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการด้านสินเชื่อนี้ และมีความสามารถใช้การชำระคืนที่ดี
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ช้อมูลการปล่อยสินเชื่อจากผู้เล่น P2P ในอินโดนีเซีย พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (P2P Lending) ในประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตสูง ด้วยจำนวนการเบิกจ่ายสินเชื่อ (Loan disbursement) ในปี 64 เทียบปี 61 เพิ่มขึ้นถึง 24 เท่า
การลงทุนครั้งนี้ KBANK และเควิชั่น ลงทุนผ่านกองทุน Beacon Venture Capital ของ KBANK
นายโรฮาน โมนกา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเนียส กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีเนียสถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเทคโนโลยีทางการศึกษาในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคนและมีคลังเนื้อหาบทเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ใช้งานประจำราว 1 ล้านราย การเพิ่มทุนรอบนี้ของซีเนียสมีมูลค่ารวมกว่า 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากบริษัทผู้ลงทุนรวม 5 บริษัท ได้แก่ MDI Ventures, Northstar Group, Alpha JWC, Openspace Ventures และกสิกรวิชั่น ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหม่ล่าสุด
หลังการระดมทุนรอบนี้ซีเนียสตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม EdTech ในประเทศอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวางแผนการทำการตลาดเพื่อสร้างการจดจำและความรู้จักกับแบรนด์ รวมถึงขยายคลังเนื้อหาหลักสูตรและฐานผู้ใช้งาน พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์สำคัญ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ZeniusLand ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ edutainment สำหรับกลุ่มลูกค้าประถม โดยซีเนียสเป็นพันธมิตร exclusive ของ Disney ในอุตสาหกรรม EdTech ในอินโดนีเซีย 2) Zenius ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเกรด 10-12 โดยมีเนื้อหาการเตรียมตัวสำหรับการสอบในชั้นเรียนและสอบเข้ามหาวิทยาลัย 3) ZenPro ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพสำหรับกลุ่มวัยทำงาน 4) ผลิตภัณฑ์ OMO (Online Merge Offline) โดยเป็นการผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียนและแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ซีเนียสได้เข้าไปควบรวมกิจการกับโรงเรียนกวดวิชา Primagama ซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อต่อยอดสู่การเรียนผสมผสานนี้ต่อไป