นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบมจ.เจดีฟู้ด (JDF) เปิดเผยว่า การเสนอขายขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของบมจ.เจดีฟู้ด (JDF) คาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นไตรมาส 2/65 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการเดินสายให้ข้อมูลกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์แล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการกำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่เหมาะสม
JDF จะเสนอขาย IPO จำนวน 150 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับจุดแข็งของ JDF มีความได้เปรียบในด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการพัฒนาสูตรอาหาร0ให้แก่ลูกค้าในธุรกิจอาหารและร้านอาหารยักษ์ใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถช่วยลูกค้าพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งได้พัฒนาสูตรมาแล้วกว่า 300 ราย หรือกว่า 2,000 เมนู
อีกทั้งบริษัทได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในปี 64 ได้มาตรฐานรับรองคุณภาพในระดับสากล เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมรองรับโอกาสการเติบโตในยุคหลังโควิด-19 เพื่อการก้าวสู่ผู้นำการพัฒนาและผลิตสูตรเครื่องปรุงรสให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มลุกค้าหลักของบริษัท ซึ่งบริษัทจะมีการเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้าพันธมิตร
นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JDF กล่าวว่า การระดมทุนแลการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัทในครั้งนี้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน และขีดความสามารถขยายธุรกิจ โดยเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO จะไว้ใช้รองรับการขยายช่องทางตลาดไปยังต่างประเทศ ทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV ประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย รวมทั้งลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเครื่องจักรของกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง และลงทุนในระบบเทคโนโลยี และระบบกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต พัฒนาระบบการเชื่อมโยงด้านข้อมูล เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น
บริษัทมองเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังผ่านการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปตั้งแต่ปี 65-68 ซึ่งกลุ่มตลาดเครื่องปรุงรสจะมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 4.16% ต่อปี หรือมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 68 จากปีก่อนที่ 5 หมื่นล้านบาท และตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เป็นกลุ่มสินค้าหลักอย่างหนึ่งของบริษัทจะยังมีการเติบโตตั้งแต่ปี 65-68 เฉลี่ย 3.61% ต่อปี และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 68 จากปีก่อนที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทยังสามารถเติบโตไปพร้อมกับตลาดที่เติบโตได้ต่อเนื่อง
ด้านเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปี 65 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 25% จากปีก่อน โดยที่กลุ่มลูกค้าของบริษัทยังคงมีการสั่งผลิตและพัฒนาสูตรเครื่องปรุงรสเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ 71% มาจากกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรส รองลงมาเป็นการรับจ้างผลิตสินค้ามะพร้าวอบกรอบ 22% และการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทต่างชาติ 7% ซึ่งแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น ลูกค้าอุตสาหกรรมอาหาร 76% ลูกค้าแฟรนไชส์ 10% ลูกค้าต่างประเทศ 7.2% และลูกค้าทั่วไป 5.5%
บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและพัฒนาสูตรเครื่องปรุงรสอาหารแบบครบวงจร (Food Sea-soning) ตามความต้องการของลูกค้า และรับจ้างผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทมะพร้าวอบกรอบ รวมทั้งสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทที่ต่อยอด พัฒนาความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร ทั้ง GOOD EATS ซุปกึ่งสำเร็จ รูปที่มีรสชาติและคุณภาพระดับภัตตาคาร ปราศจากผงชูรสทุกชนิดสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ แบรนด์ "กินดี" (Kindee) ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารที่ปราศจากผงชูรสทุกชนิดมีรสชาติที่เข้มข้น ถูก ปากคนไทย สะดวก ง่ายต่อการปรุง มะพร้าวอบกรอบแบรนด์ Crispconut อาหารว่างสำหรับคนรักและใส่ใจสุขภาพ ผงเขย่าปรุงรสและไส้เบเกอรี่หรือฟิลลิ่ง แบรนด์ "โอเค" (OK)