นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงินและ
บัญชี บมจ.
บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัท
บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (BGRIM ถือหุ้น 100%) ร่วมกับบริษัท
พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ลงนามสัญญาการใช้ความสามารถการให้บริการ
สถานี (Terminal Use Agreement - TUA) โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้า
ก๊าซธรรมชาติ (LNG) รอบแรกราว 5 แสนตัน/ปีในเดือนม.ค.66 จากโควต้าทั้งหมด 1.25 ล้านตัน หลังจากนั้นจะพิจารณานำเข้าในส่วนที่เหลือครบโควต้าภายในปี 69
ทั้งนี้ การนำเข้า LNG ทั้งหมดจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าบี กริม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ได้รวมโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ที่เตรียม COD ในครึ่งปีหลังนี้ไปด้วย โดยคาดว่าจะลดต้นทุนลงได้ราว 5-10% ในปี 66
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการจำหน่าย LNG ให้กับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีความต้องการที่จะใช้ LNG หรือมีความต้องการที่จะให้บริษัทเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าให้ โดยขนาดโรงไฟฟ้าจะมีตั้งแต่ขนาด 40-100 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม, ภาคขนส่งด้วย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2-3 ปีจากนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการเจรจากับพันธมิตรหลายรายบ้างแล้ว ก็น่าจะเข้ามาหนุนผลประกอบการให้เติบโตขึ้นในอนาคต
"การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปิดเสรี
ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ที่จะทำให้ผู้จัดหาและค้าส่ง
ก๊าซธรรมชาติ (Shipper) เอกชน ได้เข้ามาใช้บริการการเก็บรักษาและแปรสภาพ
ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่มีบทบาทสำคัญสำหรับกิจการ
ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ภายหลังจากที่ภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการ
ก๊าซธรรมชาติ เปิดให้เอกชนสามารถขอใบอนุญาตเป็น shipper เพื่อนำเข้า LNG ได้ และเมื่อนำเข้า LNG เข้ามาแล้ว ต้องมีการนำมาแปรสภาพจากของเหลวเป็นก๊าซที่
สถานี LNG Terminal ของ บริษัท
พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซฯ ของ PTT เพื่อส่งไปยังลูกค้าปลายทางทั้งโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป" นายนพเดช กล่าว
บี.กริม แอลเอ็นจี เป็น shipper 1 ใน 7 ราย ที่ได้ใบอนุญาตจัดหาค้าส่งก๊าซธรรมชาติจาก กกพ. เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งในการเจรจาสัญญาซื้อ LNG กับผู้ขายชั้นนำของโลก ตลอดจนความพร้อมในการขอใช้บริการสถานี PTT LNG Terminal (LMPT-1) แห่งที่ 1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด โดยได้ยื่นจอง LMPT-1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เมื่อวันที่ 20 ต.ค.64 จำนวน 5 แสนตันต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี (ปี 66-72) โดยมติ กกพ. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 เห็นชอบให้ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับการจัดสรรปริมาณการจองใช้ LMPT-1 ปริมาณ 0.5 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 66-72 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ได้อย่างเหมาะสม นายนพเดช กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มาร์จิ้นลดลง โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการจำหน่ายให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ราว 23% ซึ่งมัการทำสัญญาไว้ในระยะยาว ขณะที่อีก 75% จำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าขณะนี้กลับมาเติบโต 3-5% เมื่อเทียบก่อนช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ ระบาดของโควิด-19 ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ รวมไปถึงกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ ก็มีการติดต่อบริษัทเข้ามา นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการ COD โครงการ SPP replacement จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทคาดว่าผลประกอบการจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4.43 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้ในปีนี้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จากโครงการสัมปทานใหม่ (กรีนฟิลด์) และแผนการซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ทั้งต่างประเทศปละในประเทศ จำนวน 2-3 โครงการภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยบริษัทฯ วางงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 70,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือราว 20,000 ล้านบาท และยังมีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 15,000-20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายกิจการ
--อินโฟเควสท์ โดย พชรธร ภูมิคำ/พชรธร/ศศิธร โทร.02-2535000 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--