ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ระดับ "A-" รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์ Basel III ชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ "BBB" ในขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์และผลการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอกว่าคาด ตลอดจนฐานทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการขยายสินเชื่อจำนวนมาก โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารมีความเสี่ยงที่จะมีฐานทุนที่ลดลงในระยะปานกลางหากธนาคารยังคงดำเนินกลยุทธ์การเติบโตแบบเชิงรุกต่อไป
อันดับเครดิตของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีระดับเทียบเท่ากับอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ (Group Credit Profile ? GCP) ของ บมจ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) ซึ่งอยู่ที่ระดับ "a-" เนื่องจากธนาคารมีสถานะเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม
ในขณะที่อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ระดับ "a-" นั้นสะท้อนถึงธุรกิจของธนาคารที่มีขนาดเล็ก ตลอดจนการกระจุกตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง และความสามารถในการสร้างผลกำไร (Earnings Capacity) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- มีขนาดธุรกิจที่เล็กและมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัว สถานะทางธุรกิจของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงมีจำกัดจากขนาดของธุรกิจที่เล็กเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ โดยสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ถึงแม้ว่าธนาคารจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ธนาคารยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับเพียง 1.3% เท่านั้นทั้งในด้านสินเชื่อและเงินฝากเมื่อเทียบกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด ณ สิ้นปี 2564
นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของธนาคารยังมีข้อจำกัดจากการมีธุรกิจที่กระจายตัวน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ โดย ณ สิ้นปี 2564 ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนคิดเป็น 49% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคาร รองลงมาคือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) (34%) และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (17%) ธนาคารพยายามที่จะให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย) เพื่อกระจายความหลากหลายของพอร์ตสินเชื่อในระยะปานกลาง
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าธนาคารอาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของสินเชื่อกว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเมื่อพิจารณาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังในกลุ่มธุรกิจ SME ของธนาคาร ทริสเรทติ้งยังมองว่าธนาคารยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงสัดส่วนของรายได้ให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 81.1% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 68.3% ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ระดับเพียง 4.6% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2564 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 17.6% ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์ของธนาคารในการขยายฐานรายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นรายได้ประจำผ่านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นปัจจัยในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้ของธนาคารจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 2 ปีข้างหน้าเนื่องจากความพยายามเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการที่จะเพิ่มส่วนแบ่งของรายได้รวมของธนาคารให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ความสามารถในการทำกำไรอ่อนแอลงแต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมุ่งเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ ประเด็นดังกล่าวยิ่งได้รับการซ้ำเติมยิ่งขึ้นจากต้นทุนทางเครดิตที่สูงกว่าคาดในปี 2564 ซึ่งธนาคารได้ตั้งไว้เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บางราย อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาอยู่ที่ระดับ 0.28% ในปี 2564 จาก 0.6% ในปี 2563
แม้ว่าธนาคารจะสามารถรักษาอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิให้อยู่ที่ระดับสูงกว่า 2% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี แต่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.81% ในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำจะยังคงสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ในปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะฟื้นตัวขึ้นแม้ว่าจะฟื้นตัวในอัตราที่ค่อนข้างช้าก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.4%-0.7% ในปี 2565-2567 โดยในระหว่างปีดังกล่าวนั้น
ทริสเรทติ้งมีประมาณการกรณีพื้นฐานว่าสินเชื่อของธนาคารจะขยายตัวที่ระดับ 2.5%-5% อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิจะอยู่ในช่วง 2.25%-2.4% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 5% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในช่วง 42%-46% และต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ในช่วง 1.25%-1.45% ทริสเรทติ้งยังคาดว่าต้นทุนทางเครดิตที่ลดลงจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการทำกำไรของธนาคารในช่วง 2 ปีข้างหน้าจากที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.9% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงบวกจากการตั้งสำรองที่ลดลงอาจถูกชดเชยบางส่วนด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่บริษัทวางแผนไว้แล้ว
- ความเสี่ยงจากการอ่อนแอลงของเงินกองทุน เงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคารนับตั้งแต่การเพิ่มทุนโดย CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) ในปี 2560 เป็นต้นมาซึ่งช่วยทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู๋ที่ระดับ 18.7% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 10.2% ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสินเชื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2564 นั้นได้ส่งผลกดดัน CET-1 ของธนาคารให้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 16.1% ณ สิ้นปี 2564
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่ามีความเสี่ยงที่ระดับเงินกองทุนของธนาคารจะลดลงไปอีก ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้งที่ประมาณการการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารในระดับปานกลางที่ 2.5%-5.0% และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 50% ในปี 2565-2567 จะส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์ของอัตราส่วน CET-1 ของธนาคารยังทรงตัวอยู่ในช่วงประมาณ 16% ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารยังคงขยายฐานสินเชื่อมากขึ้นยิ่งต่อไปในช่วงที่แรงกดดันในการทำกำไรที่เกิดจากความเสี่ยงในการกันสำรองยังคงอยู่ในระยะปานกลางแล้วก็มีความเสี่ยงที่อัตราส่วน CET-1 จะลดลงต่ำกว่า 16% ซึ่งอาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตของธนาคารได้ อย่างไรก็ตาม คุณภาพเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงโดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นสามัญคิดเป็น 88% ของเงินกองทุนทั้งหมดซึ่งสูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ปัจจัยดังกล่าวจึงน่าจะยังคงเป็นสิ่งที่ทริสเรทติ้งใช้สนับสนุนการประเมินสถานะเงินกองทุนของธนาคารให้อยู่ที่ระดับ "Very Strong" หรือ "แข็งแกร่งมาก" ต่อไปโดยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารไม่ลดลงจากระดับปัจจุบันในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอกว่าที่คาด ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะความเสี่ยงของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ในระดับปานกลางโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับปานกลางและการกระจุกตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่เสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าซึ่งวัดจากสัดส่วนของผู้กู้รายใหญ่ที่สุด 20 รายต่อสินเชื่อรวมนั้นยังคงเป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 ผู้กู้รายใหญ่ที่สุดทั้ง 20 รายมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 28.1% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารและคิดเป็นประมาณ 1.6 เท่าของ CET-1 ของธนาคารซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเนื่องจากการที่ธนาคารให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลาที่สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.89% ณ สิ้นปี 2564 จะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.82% แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้นจากระดับประมาณ 1%-2% ในอดีต
ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปี 2563 นั้นทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ค่อนข้างน้อยเนื่องจากสินเชื่อของธนาคารที่อยู่ภายใต้มาตรการให้การช่วยเหลือ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ยังคงค่อนข้างต่ำที่ระดับ 35% ของสินเชื่อทั้งหมดเมื่อเทียบกับระดับประมาณ 40% ของสินเชื่อของธนาคารรายใหญ่อื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ความคืบหน้าในการปรับลดลงของสินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการให้การช่วยเหลือของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีความล่าช้ากว่าของธนาคารอื่น ๆ ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าสิ่งนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับการปล่อยสินเชื่อที่ธนาคารมุ่งเน้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ซับซ้อน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 สินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการให้การช่วยเหลืออยู่ที่ระดับ 26% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารเมื่อเทียบกับระดับเลขหลักเดียวหรือระดับหลักสิบต้น ๆ ของธนาคารอื่น ๆ โดยที่การเปลี่ยนแนวโน้มอับดับเครดิตเป็น "Negative" หรือ "ลบ" นั้นทริสเรทติ้งคำนึงถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอาจเพิ่มขึ้นอีกจากระดับในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งมีมุมมองในด้านบวกสำหรับนโยบายการตั้งสำรองของธนาคาร โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยธนาคารจะมีต้นทุนด้านเครดิตอยู่ที่ระดับ 1.94% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารเองในรอบ 5 ปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.97% อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าต้นทุนด้านเครดิตอาจถึงจุดสูงสุดแล้วเช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ แต่ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.25%-1.45% ต่อไปในระหว่างปี 2565-2567 จากสินเชื่อของธนาคารที่อยู่ภายใต้มาตรการให้การช่วยเหลือที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับสูงน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งสำรองของธนาคารได้ในระดับหนึ่งในอนาคต ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 179% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 160%
- ความสามารถในการระดมเงินฝากแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังคงพึ่งพิงลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ความสามารถในการระดมเงินฝากของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พัฒนาขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยเงินฝากคิดเป็นสัดส่วน 90% ของแหล่งเงินทุนรวม ณ สิ้นปี 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 87% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงการประเมินสถานะเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้อยู่ที่ระดับ "Below Average" หรือ "ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย" แม้ว่าสัดส่วนเงินฝากจากลูกค้าบุคคลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่สัดส่วนเงินฝากจากลูกค้าองค์กรลดลงซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการดึงดูดเงินฝากจากลูกค้ารายบุคคลมากขึ้น แต่สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current and Savings Account ? CASA) ต่อเงินฝากทั้งหมดของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 50.7% ณ สิ้นปี 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับประมาณ 74% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธนาคารยังคงพึ่งพาเงินฝากประจำที่มีต้นทุนสูงจากลูกค้าบุคคลรายใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเงินทุนในระดับหนึ่ง เป็นผลให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.06% ในปี 2564 นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.43% แม้จะสอดคล้องกับของธนาคารขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ใช้กลยุทธ์ที่คล้ายกันก็ตาม
- สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ สภาพคล่องของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio ? LCR) ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามาอยู่ที่ระดับ 154% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ระดับ 100% และเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 187% ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารที่ระดับ 30.9% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2564 นั้นอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารส่วนใหญ่เป็นรายการระหว่างธนาคารและการลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งสามารถจำหน่ายออกไปได้โดยง่ายเพื่อรองรับความต้องการด้านสภาพคล่อง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน คาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในระหว่างปี 2565-2567
- อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: 2.5%-5.0%
- อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ: 2.28%-2.36%
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม: 42.0%-46.0%
- ต้นทุนทางเครดิต: 1.25%-1.45%
- อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร): 2.9%-5.0%
- อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ: 16.2%-16.3%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้และมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงไปอีกเนื่องจากการกระจุกตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" ยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ระดับของเงินกองทุนของธนาคารจะลดลงต่อไปในระยะปานกลางหากธนาคารยังคงดำเนินกลยุทธ์การเติบโตแบบเชิงรุกต่อไปอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดทั้งในด้านคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในขณะที่อัตราส่วน CET-1 ไม่ลดลงจากระดับปัจจุบัน ในทางกลับกัน ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเสื่อมถอยลงไปอีก และ/หรืออัตราส่วน CET-1 ของธนาคารลดลงไปจากระดับในปัจจุบันอีก