ทริสฯ ลดอันดับเครดิตองค์กร UNIQ มาที่ BBB แต่ปรับแนวโน้มเป็น Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 16, 2022 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) มาอยู่ที่ระดับ "BBB" จากระดับ "BBB+" และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ "BBB-" จากระดับ "BBB" ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Negative" หรือ "ลบ" พร้อมกันด้วย

การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหนี้สินของบริษัทและอัตรากำไรที่อยู่ภายใต้แรงกดดัน

ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงการด้อยสิทธิของหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 53% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้" ของทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในการรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่และงานในมือจำนวนมากที่จะช่วยประกันรายได้ให้แก่บริษัทในช่วงหลายปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็ลดทอนลงจากการที่บริษัทพึ่งพางานก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการค่อนข้างสูงตลอดจนลักษณะของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีวงจรธุรกิจผันผวนเป็นอย่างมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • สถานะทางการเงินอ่อนแอลง สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยระยะเวลาในการเรียกเก็บเงินที่ยาวนานขึ้นจนทำให้ลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เรียกเก็บเงินและลูกหนี้การค้ารวมกันมีจำนวนมากได้ส่งผลให้หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จากระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงถึง 7.1 เท่าในปี 2564 จากในอดีตที่ระดับ 2-4 เท่า

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ของบริษัทที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มที่ต้นทุนในการดำเนินงานและภาระทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะสูงเกินกว่า 5 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ทริสเรทติ้งเคยกำหนดไว้ก่อนการลดอันดับเครดิตในครั้งนี้ ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 11%-12% เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่สูงกว่า 20%

  • อัตรากำไรได้รับแรงกดดัน แต่ยังสูงกว่าคู่แข่งที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการแข่งขันที่รุนแรงรวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากนั้นอาจสร้างแรงกดดันอย่างมีสาระสำคัญต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท นอกจากนี้ ความยากลำบากในการบริหารจัดการงานก่อสร้างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ก็อาจทำให้บริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทเมื่อเทียบกับรายได้แล้วจะลดต่ำลงเนื่องจากรายได้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประหยัดจากขนาดจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทได้

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 14%-16% ในระหว่างปี 2565-2567 โดยลดลงจากระดับ 18%-20% ในอดีต ทั้งนี้ เมื่อรวมผลจากการประหยัดจากขนาดแล้วก็คาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 17%-18% ต่ำกว่าระดับ 19%-22% ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะลดต่ำลงแต่ก็ยังสูงกว่าของคู่แข่งที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่มีอัตราอยู่ในช่วง 10%-14% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากการรวมศูนย์ต้นทุนไว้ที่ส่วนกลางและการมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามทำให้ต้นทุนมีความยืดหยุ่นด้วยการใช้ผู้รับเหมาช่วงจำนวนมาก โดยกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทสามารถรักษาต้นทุนคงที่เอาไว้ให้อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทสามารถลดหรือขยายการรับงานได้ตลอดช่วงวงจรของอุตสาหกรรมด้วยการปรับจำนวนงานรับเหมาช่วง แต่ในด้านลบนั้น กลยุทธ์ดังกล่าวก็อาจทำให้บริษัทประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ บริษัทได้เพิ่มงบลงทุนในด้านเครื่องจักรในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานและลดความต้องการด้านแรงงาน

  • ยังรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะในการเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเอาไว้ได้ โดยบริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 เมื่อพิจารณาจากรายได้และขนาดของสินทรัพย์ ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความแข็งแกร่งของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากผลงานการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี)

ด้วยประวัติผลงานที่เข้มแข็ง บริษัทเพิ่งได้สัญญาก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวน 4 โครงการมูลค่ารวมกันประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาทมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ที่ประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท โดยโครงการเหล่านี้ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก โครงการรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ การเพิ่มขึ้นของมูลค่างานในมือดังกล่าวเมื่อประกอบกับสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะได้สัญญาก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่าระหว่าง 5 พันล้านบาทถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปีก็คาดว่าจะช่วยหนุนให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.2-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

  • มีการพึ่งพางานก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการเป็นอย่างมาก ธุรกิจของบริษัทมีการกระจุกตัวสูงในโครงการขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการเนื่องจากบริษัทเน้นประมูลงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เป็นสำคัญ โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 โครงการขนาดใหญ่ที่สุด 3 โครงการมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 87% ของมูลค่างานในมือของบริษัท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการส่งมอบงานเพียง 1 หรือ 2 โครงการหรือเกิดเหตุขัดข้องที่มีนัยสำคัญที่ทำให้โครงการใดโครงการหนึ่งหยุดชะงักก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วงานก่อสร้างภาครัฐที่มีขนาดใหญ่มักจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ เช่น ความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้าง การทบทวนหรือการแก้แบบโครงการ หรือการแก้ไขงานก่อสร้าง นอกจากนี้ ความล่าช้าในการชำระเงินจากเจ้าของโครงการก็อาจทำให้เกิดความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลทำให้ภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายของผู้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นได้
  • สภาพคล่องสามารถบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้นจำนวน 1.97 หมื่นล้านบาทซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเป็นเงินกู้โครงการระยะสั้นจากธนาคารซึ่งช่วยสร้างความยืดหยุ่นของระยะเวลาในการชำระหนี้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นำมาใช้รองรับเงินทุนหมุนเวียนต่อไปได้เมื่อพิจารณาจากผลงานของบริษัทในการส่งมอบงานก่อสร้างต่าง ๆ

ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้ระยะยาวจำนวนเกือบ 3.3 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 400 ล้านบาทและหุ้นกู้จำนวน 2.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารนั้นบริษัทน่าจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทในปี 2565 มาชำระได้ทั้งหมด ในขณะที่หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดนั้นบริษัทจะทดแทนด้วยหุ้นกู้ชุดใหม่จำนวน 3 พันล้านบาทซึ่งออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทยังมีเงินสดและวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกันจำนวนประมาณ 6.8 พันล้านบาทสำหรับใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องอีกด้วย

ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่า ซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • บริษัทจะได้สัญญาโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่า 0.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
  • อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 14%-16%
  • เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในงานก่อสร้างภาครัฐเอาไว้ได้โดยที่ความสามารถในการทำกำไรและระดับการก่อหนี้ของบริษัทมีความสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความล่าช้าของโครงการ หรือต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงกว่าคาด หรือการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนที่ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทสูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรและการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจนส่งผลให้ระดับการก่อหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ