นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 เติบโต 30-40% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,100.06 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าปีนี้จะเป้นปีของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของการวางโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับนโยบายของรัฐบาลสู่การเป็น ASEAN Digital Hub
ในขณะเดียวกันนโยบายเร่งการจัดระเบียบสายและนำสายลงใต้ดิน ทำให้โอเปอเรเตอร์มีการเช่าโครงข่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อทดแทนการลงทุนสร้างเครือข่ายใหม่เองของโอเปอเรเตอร์ โดยเร็วๆ นี้บริษัทคาดว่าจะได้เซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหญ่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งเป็นงานที่รอมานานใช้เวลาติดตามมาหลายปี โดยจะทำให้มูลค่างานที่มีในมือ (Backlog) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"ที่ผ่านมา ALT ได้มีการลงทุนมูลค่าสูงมากในการวางโครงข่ายพื้นฐานรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เราจึงเชื่อมั่นว่าในปีนี้ จะเป็นปีที่ดี ปีแห่งการเก็บเกี่ยว" นางปรีญาภรณ์ กล่าว
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนค่อนข้างมากในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม มาสู่โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัล-พลังงานทดแทน เพื่อสร้าง New S-curve และปีนี้ก็จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุน ทั้งในส่วนของสถานีชายฝั่งเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำ, ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ธุรกิจแพลตฟอร์มอัจฉริยะ, ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart Energy)
นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Digital Hub ซึ่งมีโอกาสสูงมาก โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบาย EEC ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ไทยอยู่จุดกึ่งกลางมากที่สุดในการเชื่อมตะวันออกและตะวันตกจากยุโรปไปญี่ปุ่น มีพื้นที่ติดต่อชายแดนหลายประเทศ สามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลกและเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นๆ
ประกอบกับประเทศสิงคโปร์มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ ทำให้บริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูลและธุรกิจออนไลน์รายใหญ่ (Hyperscaler) ต้องหาที่ลงทุนตั้งฐานข้อมูลสำรอง โดย Hyperscaler รายใหญ่ของโลก 4 รายให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย และมี 1 รายเลือกใช้โครงข่ายของ ALT ส่วนรายที่ 2 กำลังเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแต่ละบริษัทจะสร้างรายได้ให้มากกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับสัญญาระยะยาว 15 ปี
ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในภาคธุรกิจตื่นตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ เพื่อหาโอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ (New growth driver) แต่กว่าจะมาเป็นออนไลน์ ดิจิทัล และแพลตฟอร์ได้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม ซึ่งการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ALT ถือว่าได้รับประโยชน์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมี Backlog ในมืออยู่ที่ประมาณ 1,300-1,400 ล้านบาท จากสิ้นปี 64 ที่มี Backlog อยู่ที่ 1,307.90 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.65 บริษัทจะมีการทยอยรับรู้รายได้ไปบ้างแล้วบางส่วน แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังได้รับสัญญางานใหม่เข้ามาเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าโครงการ Submarine Cable จะมีการให้บริการและรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2/65 เป็นไตรมาสแรกอีกด้วย
ด้านธุรกิจการจำหน่ายและติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ทั้งจากลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางในการติดตั้ง Solar Rooftop สัญญาในรูปแบบ Private PPA เข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ม.ค. และ ก.พ.65 เพิ่มมาอีก 1.7 เมกกะวัตต์ และ 1.9 เมกกะวัตต์ ตามลำดับ จากสิ้นปี 64 ที่มี 250 กิโลวัตต์ (KWp)