เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีชำระสินค้าและบริการ เพราะต้องการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงจาการสูญเสียมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล รวมถึงอาจถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงิน
แต่อย่างไรก็ตามหากท่านผู้อ่านได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีจะพบกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของประเทศไทยคือ บาทดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency : CBDC ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ซึ่งบาทดิจิทัลดังกล่าวมีการใช้งานจริงแล้วโดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศหรือในระดับสถาบันการเงินหรือ Wholesale Central Bank Digital Currency : Wholesale CBDC ซึ่งได้พัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ทำให้สามารถช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาทีเมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในรูปแบบดั้งเดิมที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วันรวมถึงช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศได้มากกว่าครึ่งหนึ่งอีกด้วย
ผลสำเร็จดังกล่าวก็ทำให้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายโครงการพัฒนาร่วมกับกลุ่มธนาคารกลางอีกหลายแห่ง เช่น ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) สถาบันศึกษาของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพจากการจัดการสภาพคล่อง การรักษาความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงินและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) สำหรับรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาไปสู่ธนาคารพาณิชย์และผู้ใช้งานในอนาคต
จึงเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้และพัฒนาระบบการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือหรือคริปโทเคอร์เรนซีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังนั้นการประกาศห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีชำระสินค้าและบริการดังกล่าว ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในอนาคตอันใกล้ประชาชนจะสามารถใช้เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC เพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่าง ๆ จึงเป็นที่สนใจว่าเมื่อ CBDC หรือเงินบาทดิจิทัลถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลหรือหรือคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หรือซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือ stable coin ทั้งหลาย