นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ไม่สนับสนุนให้มีการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Cryptocurrency เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมของแสนสิริยังคงใช้เงินสดและสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ขณะที่ SIRI Hub Token จัดอยู่ในกลุ่มของ Investment Token ที่หน่วยงานกำกับมีการรับรองและสนับสนุนเพื่อเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ที่ผ่านมาที่แสนสิริเปิดรับชำระค่าบ้านและคอนโดมิเนียมด้วย Cryptocurrency ซึ่งมีลูกค้าที่เข้ามาซื้อโครงการด้วย Cryptocurrency ค่อนข้างน้อยราว 13 ราย จากที่ลงชื่อแจ้งความจำนงมา 25 ราย มูลค่ารวมทั้ง 13 รายอยู่ที่ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทที่ 3 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากที่กฎเกณฑ์ควบคุมจากหน่วยงานกำกับออกมา การชำระ Cryptocurrency ในการซื้อที่อยู่อาศัยของบริษัทก็คงทำไม่ได้แล้ว
"ผมอาจจะขอแย้งหน่วยงานที่ออกกฎมา ที่เขาบอกว่าไม่มีใครยอมรับและทำการชำระด้วย Cryptocurrency แต่จริงๆแล้วมีและเกิดขึ้นจริง แต่ยังอาจจะไม่เกิดความแพร่หลายมาก แต่อะไรที่หน่วยงานกำกับออกมาบังคับ เราก็ยินดีที่จะต้องทำตามกันไป" นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทอยากเห็นการผลักดันสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยนั้นอยากเห็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างให้กับทุกภาคส่วนในประเทศมากกว่า ไม่จำกัดเฉพาะในด้านการลงทุนที่เน้นสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเพื่อการลงทุนเพื่อการซื้อขายเก็งกำไรที่กลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่อยากให้ภาครัฐมีการผลักดันโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวเข้ามา โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจหรือลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลให้เข้ามาพักอาศัยระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งทำคล้ายกับรูปแบบของ Phuket Sandbox ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เช่น ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพมากขึ้น
ขณะเดียวกันในส่วนของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลของภาคธุรกิจนั้นมองว่าอยากให้คำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวแก่บริษัทและลูกค้าของธุรกิจเป็นหลัก ไม่อยากให้เป็นการลงทุนตามแฟชั่น แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของแสนสิริจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างดี แต่บริษัทจะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้เกิดคุณค่ากับลูกค้าและบริษัทในระยะยาวมากที่สุด เช่น การศึกษาในเรื่อง NFT ที่บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา ในการมองหาแนวทางในการนำมาใช้ในด้านการตลาดและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้าของแสนสิริ
สำหรับภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยอมรับว่ายังมีผลกระทบในเรื่องของกำลังซื้อที่มีค่อนข้างจำกัด และการเข้าถึงสินเชื่อที่ยากมากขึ้น ซึ่งปัจจัยของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน มีผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังต้องพึ่งพิงกำลังซื้อของคนในประเทศในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ และจากปัจจุบันที่ภาวะเงินนเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมกำลังซื้อในประเทศเข้าไปอีก โดยที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางในการแบ่งเบาภาระและลดค่าครองชีพให้กับคนในประเทศ ทำให้ทุกคนสามารถเดินหน้าไปต่อได้ และอยากให้หาแนวทางในการที่ร่วมมือกับธุรกิจ Non-Bank ในการหาแนวทางให้ธุรกิจดังกล่าวช่วยลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่กู้ยืม เพราะจากที่เห็นธุรกิจ Non-Bank ยังคงได้รับประโยชน์ที่มากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้
"ยอมรับว่าการทำธุรกิจอสังหาฯในปีนี้ยังเหนื่อย จากกำลังซื้อที่หดตัวลงชัดเจน แม้ว่าคนอยากให้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆที่อยู่ในที่อยู่อาศัย แต่ถามว่าคนส่วนใหญ่สามารถ Afford ได้หรือเปล่า และแบงก์ก็เริ่มปล่อยกู้ยากขึ้น ทำให้การทำอสังหาฯในปีนี้ยังต้องคิดอย่างรอบคอบ แม้ว่าแสนสิริจะมีการปรับตัวเร็ว แต่ปัญหากำลังซื้อก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจในปีนี้" นายเศรษฐา กล่าว