นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยถึงที่มาของการออกเกณฑ์กำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีประเด็นหลัก คือ ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ (Means of Payment) หรือไม่สนับสนุนให้เอามาใช้แทนเงินบาทนั้น มีสาเหตุมาจากทางกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาระยะหนึ่งแลก และเริ่มเห็นสัญญาณที่อาจเร่งตัวขึ้น ขณะที่ภาครัฐมีความกังวลอย่างยิ่งว่าหากมีสิ่งที่เข้ามาทดแทนเงินบาท อาจจะทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
สำหรับหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 6 ข้อ ได้แก่
1. ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมบริการ ชำระค่าสินค้าหรือบริการ
2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ
3. ไม่เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ
4. ไม่ให้บริการโอนเงินบาท จากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น
5. ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น เพื่อการชำระสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
6. ไม่ให้บริการอื่นใดในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการชำระค้าสินค้าและบริการ ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ จากเกณฑ์กำกับฯ ข้างต้น ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด (ก.ล.ต.) ร่วมกับนายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ดังนี้
Q เหตุผลที่ภาครัฐได้มีการออกเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
A มองว่าการนำเอาสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อของการชำระค่าสินค้าและบริการ จะมีความเสี่ยงอยู่ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงต่อประชาชน และห้างร้านต่างๆ หากมีการรับชำระ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างผันผวน ที่ผ่านมาจะใช้ในการลงทุน การเก็งกำไรเป็นหลัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของคนที่เข้าใจหรือยอมรับความผันผวนของราคาได้
แต่หากมาใช้ชำระสินค้าและบริการจริง อาจสร้างความเสี่ยงต่อผู้ใช้และร้านค้า จึงไม่เหมาะต่อการมาใช้ในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ผู้ที่นำเอาสินทรัพย์ดิจิทัลไปจ่ายให้กับร้านค้า ไม่ได้ทำ Know Your Customer (KYC) กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ร้านค้าก็อาจถูกใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการฟอกเงิน เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง เกณฑ์ฯ ปัจจุบันของประเทศไทยก็ไม่อนุญาตให้นำเอาเงินตราต่างประเทศมาใช้ในการชำระสินค้าและบริการในประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดผลที่เรียกว่า Dollarization ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ในประเทศมีการถือครองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการถือครองเงินบาทน้อยลง และผลที่ตามมา คือการเข้าไปดูแลนโยบายต่างๆ ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ ก็จะทำได้ยากขึ้น
Q หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผู้ลงทุนหรือไม่
A เกณฑ์ฯ นี้จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนตามปกติ โดยลูกค้าที่ต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนยังคงซื้อขาย แลกเปลี่ยน เพื่อการลงทุนได้ตามเดิม แต่จะต้องไม่เข้าข่าย Means of Payment
Q มีการตรวจสอบแล้วพบว่าลูกค้าที่มีการเปิดบัญชีไว้ก่อนแล้ว เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ จะต้องดำเนินการอย่างไร
A - ให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ แจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์ และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ
- หากลูกค้ายังดำเนินการอยู่ ต้องดำเนินการกับลุกค้าที่ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกให้บริการ หรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
Q ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการในลักษณะ Means of Payment อยู่ก่อนแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไร
A ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือไปแก้ไขสัญญา ยกเลิก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (1 เม.ย.65) โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการฯ อยู่ทั้งสิ้น 4 ราย
Q ประชาชน กิจการร้านค้า สามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันเองได้หรือไม่
A โอนสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนบุคคล หรือลักษณะ Wallet to wallet สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตอำนาจของสำนักงานก.ล.ต. แต่ด้วยราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค่อนข้างมีความผันผวน และอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าอาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
Q ร้านค้าที่เปิดรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ได้ผ่านตัวกลางหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางดูแลอย่างไร
A ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ว่าจะมีการรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแพร่หลายหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่ได้มีมากนัก เพราะมีเรื่องของต้นทุนในการโอนเหรียญเข้ามาเกี่ยวข้อง และหากผู้ประกอบธุรกิจฯ ไม่ได้ช่วยสนับสนุนแล้ว โอกาสที่จะเป็นวงกว้างคงจะน้อยลง
Q จะเป็นการปิดโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตหรือไม่
A ยืนยันไม่เป็นการปิดโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ เนื่องจากเป็นเพียงจำกัดขอบเขตในการให้บริการเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น นักลงทุนยังสามารถซื้อขายเพื่อการลงทุน เก็งกำไร ได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในไทย ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทกับดีลเลอร์ในไทยได้ เพื่อนำเงินบาทไปจับจ่ายใช้สอยต่อไป
นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. จะมีสถานะเป็นเงินตราตามกฎหมาย จะไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง ซึ่งจะมาใช้เสริมระบบการชำระเงินในประเทศ และช่วยให้การใช้เงินดิจิทัลมีประโยชน์มากขึ้น
ส่วนการเชื่อมโยงกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ โดยเฉพาะ Stablecoin ก็ยังต้องดูในอนาคตต่อไป โดยปัจจุบัน CBCD กำลังจะเข้าสู่ช่วงของการทดลอง คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปลายปี 65