ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) คาดการณ์ว่า การปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีและการตั้งสำรองหนี้สูญจากการขาดทุนในตลาดซับไพร์มของบริษัทการเงินนั้น ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มการเงินฟื้นตัวขึ้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 35.50 จุด หรือ 0.29% แตะระดับ 12,145.74 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 6.71 จุด หรือ 0.51% แตะระดับ 1,315.48 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดดีดขึ้น 19.74 จุด หรือ 0.88% แตะระดับ 2,263.61 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 1.8 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 18 ต่อ 13 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ประมาณ 2.47 พันล้านหุ้น
การคาดการณ์ของเอสแอนด์พีทำให้นักลงทุนคาดหวังว่า วิกฤตการณ์ในตลาดซับไพรม์และปัญหาสินเชื่อเริ่มคลี่คลายลงแล้ว โดยเอสแอนด์พีคาดว่า การปรับลดมูลค่าสินทรัพย์และการตั้งสำรองหนี้สูญทั่วโลกอาจมีอยู่ถึง 2.85 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.65 แสนล้านดอลลาร์ แต่เอสแอนด์พีกล่าวเสริมว่า สถานการณ์ดังกล่าวใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่
อัล โกลด์แมน หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทเอจี เอ็ดเวิร์ดส์กล่าวว่า "การแสดงความคิดเห็นของเอสแอนด์พีเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด และทำให้นักลงทุนคลายความกังวลลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กเคลื่อนตัวผันผวน เพราะยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่ไม่มั่นใจว่ามาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง 2 แสนล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะช่วยคลี่คลายปัญหาในตลาดสินเชื่อได้หรือไม่"
ขณะที่ คิม คอจเฮย์ นักวิเคราะห์ด้านหลักทรัพย์จากบริษัทฟอร์ท พิทท์ แคปิตอลกล่าวว่า "แม้ตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการแสดงความคิดเห็นของเอสแอนด์พี แต่ตลาดยังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบ ซึ่งล่าสุดคือข่าวที่ว่าบริษัทคาร์ลิล แคปิตอล คอร์ป แถลงว่า สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจยึดทรัพย์สินที่เหลืออยู่ทั้งหมดของบริษัท หลังจากที่บริษัทไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ในการผลัดนัดชำระหนี้"
"นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลที่ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 110.33 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง" คอจเฮย์กล่าว
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาดูการประชุมเฟดซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18 มี.ค. โดยมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.50๔
นักลงทุนส่วนใหญ่วิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดค้าปลีกเดือนก.พ.ปรับตัวลง 0.6% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%
ดรูว์ มาตัส หัวหน้านักวิเคราะห์จากเลห์แมน บราเธอร์สกล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนก.พ. ลดลง 63,000 อัตรา ซึ่งร่วงลงหนักที่สุดในรอบ 5 ปี และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 อัตรา
"ตัวเลขจ้างงานที่ทรุดตัวลงอย่างหนักกำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราคาดว่าตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคจะปรับตัวลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดน้อยลงด้วย" มาตัสกล่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--