IPOInsight: JDF ตีมูลค่าหุ้นฟู้ดเทคฯ IPO 2.60 บ.ท้าโอกาสใหญ่ต่างแดน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 28, 2022 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เจดีฟู้ด (JDF) ระดมทุนรองรับแผนงานใหญ่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ พุ่งเป้าหมายหลัก CLMV พร้อมรุกขยายงานด้าน R&D เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในสายฟู้ดเทคฯ

JDF กำหนดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 7 เม.ย.65 หลังจากเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค.65 โดยเคาะราคาเสนอขายหุ้นละ 2.60 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 34.37 เท่า จำนวนเสนอขานหุ้น IPO ทั้งสิ้น 150 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท

ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการปี 64 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 585.70 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 43.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.12 บาท เมื่อเทียบกับปี 63 อยู่ที่ 592.17 ล้านบาท ที่มีกำไรสุทธิ 53.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.17 บาท

*JDF เคาะไอพีโอ 2.60 บ. P/E ต่ำกว่ากลุ่มฯ

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน JDF เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ราคาหุ้น IPO ที่ราคา 2.60 บาท ถือเป็นราคาที่มีความเหมาะสม มาจากสมมติฐานค่า P/E ที่ประมาณ 34 เท่า ซึ่งถ้าหากพิจารณาหุ้นหมวดอาหารในตลาด SET จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44 เท่า นับว่าหุ้นของ JDF มีค่า P/E ที่ต่ำกว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และต่ำกว่าหุ้นที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันช่วง 3 เดือนย้อนหลังอย่างหุ้น NRF ที่มี P/E อยู่ที่ 86 เท่าและ RBF ที่มี P/E อยู่ที่ 88 เท่า

สำหรับหุ้นของ JDF เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สะท้อนจากธุรกิจอาหารที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าหุ้นในหมวดอาหารจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ประเมินว่าในปี 65 สถานการณ์จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้และกำไร

ทั้งนี้ JDF วางเป้ารายได้ปี 65 เติบโตราว 25% หรือกลับไปเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19

"จุดแข็งของ JDF คือเป็นหุ้น Food Technology มีทีมวิจัยที่คิดและพัฒนาสูตรเฉพาะร่วมกับลูกค้า ดังนั้นลูกค้าจะมีคำสั่งซื้อในระยะยาว เพื่อคงรสชาติของสินค้าไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ Foodchain เพื่อควบคุมรสชาติของอาหารให้เหมือนกันในทุกสาขาอีกด้วย" นายเอกจักร กล่าว

*เปิดใจแม่ทัพ JDF ผู้อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหาร

นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JDF เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จุดเริ่มต้นของ JDF เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าเครื่องปรุงรสในสมัยนั้นส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นในปี 42 ที่จ.สมุทรสงคราม เพื่อประกอบธุรกิจผงปรุงรสสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และในปี 52 ได้เริ่มขยายมาที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้ามะพร้าวอบกรอบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่นิยมสินค้าสุขภาพ

จนมาถึงช่วงปี 63 จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 33 ไร่ ใน ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร โดยมีการออกแบบระบบและนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมควบคุมโรงงานให้อยู่ในมาตรฐาน ทำให้ในปัจจุบันมีคู่ค้าประมาณ 300 ราย และมีสูตรอาหารที่ผลิตให้กับลูกค้ามากกว่า 2,000 รายการ

ด้านสินค้าของบริษัทประกอบไปด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซึ่งจำหน่ายไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ธุรกิจ Food Chain 2) ผลิตภัณฑ์มะพร้าวอบกรอบส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) เน้นจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

และ 3) ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ "กินดี" ผลิตเครื่องปรุงรสที่เป็นรสชาติอาหารไทย, แบรนด์ "Crispconut" ผลิตและจำหน่ายสินค้ามะพร้าวอบกรอบ, แบรนด์ "OK" คิดค้นสูตรและผลิตผงปรุงรส และไส้เบเกอรี่ และแบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่าง "Good Eats" ตอบโจทย์ทางเลือกคนรักสุขภาพ

สัดส่วนลูกค้าในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ 7% เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกอีก 93% เป็นลูกค้าในประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 77% กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 11% และกลุ่มลูกค้าทั่วไปอีก 5%

*โตบนเค้กก้อนใหญ่อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าหลายหมื่นล้าน

นางสาวรัตนา กล่าวว่า บริษัทยังคงมองเห็นแนวโน้มการเติบโตในตลาดอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเครื่องปรุงรสจะมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 4.16% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 68 ยกตัวอย่างตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้จะเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อนก็ยังสามารถเติบโตได้ 12% และอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยว หรือ ธุรกิจ Food Chain ก็ยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้าก็จะไม่หยุดนิ่ง เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ ทุกปี และ JDF ก็จะไปซัพพอร์ตในการพัฒนาสูตรอาหารให้กับลูกค้า ดังนั้นถ้าหากลูกค้าโต เราก็จะโตไปด้วย

"หัวใจสำคัญของ JDF ในการดำเนินธุรกิจ คือทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางบริษัทมีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปีในวงการผงปรุงรสเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัทยังมีบริการ One Stop Service ทำงานร่วมกับลูกค้าทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูดคุยถึงความต้องการ การวางแผนงาน การวิจัยและพัฒนา เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น"

พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมทางอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สินค้าผักและผลไม้อบแห้งรองรับตลาดขนมขบเคี้ยวสาย Healthy Food ที่ใช้เทคโนโลยีการอบ 100% และ อาหารโปรตีนจากพืช (Plant base) รวมถึงต่อยอดกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบรนด์ของบริษัท เป็นต้น

*เข้าตลาดหุ้นตีตลาด CLMV

เมื่อปี 63 บริษัทย้ายโรงงานครั้งล่าสุดได้เพิ่มกำลังการผลิตที่เพียงพอ รวดเร็ว และทันสมัย ทั้ง 3 ไลน์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นไลน์เครื่องปรุงรสที่ปัจจุบันสามารถผลิตได้ 9,000 ตัน/ปี, ไลน์มะพร้าวอบกรอบที่ผลิตได้ 630 ตัน/ปี และไลน์ของเหลวที่ใช้เป็นซอสหรือไส้ขนมก็สามารถผลิตได้มากถึง 2,200 ตัน/ปี ส่วนเรื่องการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยความที่ JDF ทำธุรกิจมานาน ก็มีการพูดคุยกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องว่าวัตถุดิบตัวไหนมีแนวโน้มจะขึ้นราคา ก็ทำให้เราสามารถควบคุมและจัดการราคาสินค้าได้

จากแผนการระดมทุนและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายช่องทางไปยังตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV ตามแผนระยะยาว 3-5 ปีของบริษัท และยังวางแผนจัดตั้งห้องแล็บหรือสำนักงานขายในต่างประเทศ รวมไปถึงจะใช้เงินเพื่อลงทุนในการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้จะมีการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามา เพื่อรองรับการขยายฐานการผลิตและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น

"สำหรับตลาดในประเทศเราก็จะขยายตลาดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอส ไส้กรอก เนื้อแปรรูป อาหารทะเล และแป้งทอดกรอบ ซึ่งมีตลาดค่อนข้างใหญ่และโตขึ้นทุกปี มันสะท้อนว่าเรื่องของ Food Technology ไม่มีทางหยุด และยังมีประเด็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาหารการกินก็ควรจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ต้องมีรสชาติอร่อยด้วย ซึ่งเราก็จะนำเงินไปวิจัยและพัฒนาตรงนี้" นางสาวรัตนา กล่าว

https://youtu.be/Gd43jRfolCw


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ