(เพิ่มเติม) BGRIM ผนึก TRUE พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงานหนุนสตาร์ทอัพไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 28, 2022 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน เตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลต่อยอดสู่การสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ มุ่งส่งเสริมศักยภาพการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนและสตาร์ทอัพยุคใหม่ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานยุคดิจิทัล ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM เปิดเผยว่า การร่วมงานกับกลุ่ม TRUE พันธมิตรที่แข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อนำศักยภาพของเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ที่ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ยังสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ สอดรับกับหนึ่งในยุทธศาสตร์ของบี.กริม ที่มุ่งมั่นพัฒนาโมเดลธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับ ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวและสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) TRUE กล่าวว่า BGRIM และ กลุ่ม TRUE จะทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ นำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรู รวมทั้งอัจฉริยภาพของเครือข่ายทรู 5G ต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจและตอบโจทย์การใช้พลังงานทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รองรับเทรนด์การใช้พลังงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย เติมเต็มวิสัยทัศน์และสนับสนุนพันธกิจของ BGRIM ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมดิจิทัลด้านพลังงาน ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วยพลังงานอัจฉริยะ ความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) เชื่อมโยงกระบวนการซื้อ-ขายไฟฟ้าทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งสู่การเป็น Smart City และ Smart Energy - Smart Building โดยมีอาคารอัจฉริยะและอาคารประหยัดพลังงานของ บี.กริม เป็นอาคารต้นแบบในการทดสอบระบบ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การให้บริการลูกค้าภายนอกในอนาคต พร้อมพัฒนาโซลูชันสำหรับอาคารประหยัดพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด การนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ โซลูชัน Property Integration System และ True Smart Energy ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G รวมถึงการออกแบบระบบภายในอาคารให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ

2. การพัฒนาโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G สร้างองค์ความรู้ ศึกษา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม Smart Grid ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G ที่จะยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าไทย ภายใต้แนวคิด Industrial 4.0, Facility 4.0 และ Smart Industrial Estate เพื่อให้บริการพลังงานที่มีคุณภาพและเสถียรภาพภายในพื้นที่สำนักงานและนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ บี.กริม ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นการผสานการทำงานของเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเข้ากับระบบไฟฟ้าแบบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การส่ง และ การจำหน่ายไฟฟ้า จนถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยี IoT ในการผลิต การติดตั้ง และบำรุงรักษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ช่วยป้องกันชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ไม่ให้เกิดความเสียหาย พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี สะดวก รวดเร็ว และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่และการส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทย ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ ด้วยความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพผ่านกิจกรรม Hackathon ที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ตลอดจนเปิดพื้นที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จัดประชุมสัมมนาเชิงสร้างสรรค์ พร้อมโอกาสการลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในระบบนิเวศของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านดิจิทัล ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของไทยให้พัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชันในการให้บริการพลังงานไฟฟ้าหลักหรือระบบไฟฟ้าสำรอง รวมถึงระบบจัดการความเย็นที่มีประสิทธิภาพ สำหรับศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ของทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรู ไอดีซี) ตลอดจนสร้างโซลูชันเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน พร้อมช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ ทรูไอดีซี ในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ในประเทศไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Data Center) และมีความยั่งยืนในการส่งมอบบริการให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

"ความร่วมมือกับกลุ่มทรูในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของ บี.กริม ในการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ตามวิสัยทัศน์ของ บี.กริม ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างประโยชน์สู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป" นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

นายณัฐวุฒิ คาดว่าในครึ่งปีหลังของปี 65 น่าจะเห็นความชัดเจนในความร่วมมือที่เป็นรูปแบบชัดเจน ทั้ง 4 บริการ โดยมองว่า มีความเป็นไปได้เห็นความร่วมมือบริการ Smart Energy พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล , Smart Building ที่น่าจะ Joint Venture ใช้นวัตกรรมร่วมกัน ส่วน Data Center ที่เป็นการสร้างโซลูชั่นเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน ที่คาดจะมีความชัดเจนได้

ส่วนความร่วมมือ Smart Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องระยะยาวเพราะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะร่วมมือในรูปแบบ Joint Venture เช่นกัน

ด้านนายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงินและบัญชี BGRIM คาดว่าจะเห็นความร่วมมือในบริการร่วมกันในไตรมาส 2/65 นำร่องบริการ Smart Building กับอาคารบีกริมที่จะเป็นต้นแบบก่อน จากนั้นขยายไปลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม นำร่องในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ขณะที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งใช้พลังงานมากตลอดวัน ก็จะเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มนำรองทรูดาต้าเซ็นเตอร์ที่บางนาและแจ้งวัฒนะก่อน

สำหรับบริการ Smart Grid จะนำโครงข่าย 5G เข้ามาให้เกิดระบบนิเวศ และต่อยอดเป็น Energy Trading Platform ที่จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาไฟฟ้าตก รวมถึงการให้บริการเกี่ยวกับรถไฟฟ้า (EV) ตัวสถานีชาร์จไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ