ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ของ BAM ที่ "A-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 29, 2022 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานและความเป็นผู้นำในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระดับการก่อหนี้และความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับปานกลางของบริษัท รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนที่กระจายตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความเสี่ยงในด้านการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ ความเสี่ยงระดับมหภาค และความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินทรัพย์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัทได้หากไม่มีการควบคุมที่ดี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการตั้งราคาซื้อขายสินทรัพย์ ตลอดจนกลยุทธ์ในการเลือกลงทุน และการกระจายตัวของประเภทสินทรัพย์และสถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ในระดับหนึ่ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีความเป็นผู้นำในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงสถานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดนั้นมาจากการมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับธนาคารหลายแห่ง ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์ที่ยาวนานในการตั้งและประเมินราคาสินทรัพย์รวมทั้งฐานข้อมูลที่ครอบคลุมกว้างขวางซึ่งช่วยในการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ดีในราคาที่เหมาะสมนั้นยังเป็นจุดแข็งสำคัญของบริษัทอีกด้วย

ถึงแม้ว่า ณ สิ้นปี 2564 สินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัทจะลดลง 5% เป็น 1.26 แสนล้านบาท แต่บริษัทก็ยังคงถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดคิดเป็น 51% ของขนาดสินทรัพย์เมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดในประเทศไทย โดยสินทรัพย์ที่บริษัทบริหารประกอบไปด้วยเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ -- NPL) จำนวน 8.17 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์รอการขาย (สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ? NPA) จำนวน 3.79 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ขายผ่อนชำระจำนวน 2.2 พันล้านบาท

  • การเลือกลงทุนทำให้สามารถรักษาระดับการก่อหนี้ ในปี 2564 บริษัทมีการนำกลยุทธ์การเลือกลงทุนมาปรับใช้ในการซื้อหนี้ทั้งในด้านราคาและคุณภาพของสินทรัพย์ กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ต้นทุนการซื้อหนี้โดยรวมของบริษัทลดลง 68.5% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นต้นทุนการซื้อหนี้ที่ 3.7 พันล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวเป็นแนวทางที่ระมัดระวังในเวลาที่การจัดเก็บหนี้มีความไม่แน่นอนสูงยิ่งขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเมื่อมีการซื้อสินทรัพย์น้อยลง บริษัทก็มีความจำเป็นที่จะหาแหล่งเงินกู้ยืมมาใช้ซื้อสินทรัพย์น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจึงยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.94 เท่า ลดลงจากระดับ 2.16 เท่าในปี 2563

ในอนาคตบริษัทมีแผนกลยุทธ์ที่จะดำเนินธุรกิจแบบ Asset-light Model โดยลดการซื้อสินทรัพย์โดยตรงที่จะรายงานในงบการเงินให้เหลือน้อยลง ในการนี้ บริษัทวางแผนจะนำแนวทาง Joint Venture Model ที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาปรับใช้ โดยแนวทางดังกล่าว สถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนให้มาทำหน้าที่ร่วมบริหารสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทร่วมทุนจะเป็นผู้รับผิดชอบการกู้เงินโดยไม่รวมเข้ากับงบการเงินของบริษัทหุ้นส่วน

นอกจากนี้ สมมุติฐานของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับเงินสดจัดเก็บจำนวน 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้นน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถคงระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเงินสดที่ได้รับมาและสามารถนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ใหม่ซึ่งจะช่วยลดภาระการก่อหนี้ใหม่ได้อีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่าเอาไว้ได้ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า

  • ผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวมาจากสินทรัพย์รอการขายเป็นหลัก ผลการดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างมีทิศทางที่สอดคล้องกับวงจรเศรษฐกิจซึ่งเห็นได้จากเงินสดจัดเก็บจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างที่ปรับตัวลดลงในปี 2563 จากสถานการณ์เครดิตที่อ่อนแอลงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทสามารถจัดเก็บเงินสดจากการบริหารจัดการลูกหนี้เพิ่มขึ้นเพียง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 8.7 พันล้านบาทจากผลของสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแออยู่

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มการเก็บเงินในส่วนการบริหารจัดการลูกหนี้ได้เพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นซึ่งจะทำให้ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของลูกหนี้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ในขณะเดียวกัน เงินสดจัดเก็บจากการขายสินทรัพย์รอการขายก็เป็นปัจจัยสนับสนุนหลักในการฟื้นตัวของผลกำไรของบริษัทในปี 2564 การขายสินทรัพย์รอการขายที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากกลยุทธ์ดังต่อไปนี้ 1) การไม่คิดค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2) กลยุทธ์การลดราคา 3) การให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากยิ่งขึ้น และ 4) การเพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยบริษัทมีเงินสดจัดเก็บจากการขายสินทรัพย์รอการขายเพิ่มขึ้น 54.9% หรือคิดเป็น 7.3 พันล้านบาทในปี 2564 ส่งผลทำให้เงินสดจัดเก็บรวมอยู่ที่ระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับในปี 2563

ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการบริหารจัดการลูกหนี้ (รายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้) ซึ่งไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับเพิ่มขึ้น 2.5% มาอยู่ที่ระดับ 4.9 พันล้านบาท ในทางกลับกัน รายได้จากสินทรัพย์รอการขาย (กำไรจากสินทรัพย์รอการขาย ดอกเบี้ย และกำไรจากการขายแบบผ่อนชำระ) ของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 50.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.8 พันล้านบาท

เมื่อรวมผลการดำเนินงานของทั้งการบริหารจัดการลูกหนี้และสินทรัพย์รอการขายแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 41.3% มาอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาทในปี 2564 โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.02% เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.46% ในปี 2563 ทั้งนี้ ผลกำไรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดของวงจรขาลงแล้วในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีการเติบโตในการบริหารจัดการลูกหนี้มากยิ่งขึ้นซึ่งสิ่งดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของผลกำไรในปี 2565 ในขณะที่การบริหารสินทรัพย์รอการขายจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งใกล้เคียงกับระดับในปี 2564

  • แหล่งเงินทุนที่กระจายตัวและมีความยืดหยุ่นทางการเงิน แหล่งเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอจากการที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่ขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัท บริษัทมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเป็นส่วนที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ระยะสั้นกับสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทและมีตั๋วสัญญาใช้เงินคงค้างที่บริษัทออกไว้ใช้ซื้อสินทรัพย์มูลค่าคงเหลืออยู่ที่ประมาณ 3.8 พันล้านบาท

ในขณะเดียวกัน บริษัทยังเข้าถึงตลาดทุนโดยสามารถออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ใหม่ในยามที่ต้องการ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.2 หมื่นล้านบาท

เมื่อพิจารณาในด้านของเงินทุนและสภาพคล่องนั้น บริษัทไม่มีประเด็นในด้านการไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และสภาพคล่องที่สำคัญ ๆ แต่อย่างใด โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่จะต้องชำระเป็นเงินกู้ระยะยาวในสัดส่วนประมาณ 78% ของภาระหนี้ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยในการชำระหนี้ 6 ปีเมื่อเทียบกับระยะเวลาเฉลี่ยของสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 6-8 ปี ในการนี้ บริษัทมีเงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดชำระภายในเดือนธันวาคม 2565 ที่จำนวนประมาน 1.67 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้มูลค่า 6.4 พันล้านบาท ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจ่ายชำระคืนหนี้โดยใช้กระแสเงินสดที่ได้รับจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายรวมไปถึงการออกหุ้นกู้ชุดใหม่

  • ความเสี่ยงจากสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่สูงถูกลดถอนด้วยการกระจายตัวของสินทรัพย์ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวที่ค่อนข้างมากในภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่บริษัทลงทุน ดังนั้น สภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จึงมีแนวโน้มที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเนื่องจากจะส่งผลต่อราคาและความสามารถในการขายอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้บังคับหลักประกันมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการกระจายตัวของสินทรัพย์ทั้งในด้านประเภทของหลักทรัพย์และสถานที่ตั้งจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ การที่บริษัทสามารถลดราคาสินทรัพย์ลงได้จากการมีต้นทุนในการซื้อสินทรัพย์ที่ต่ำก็ช่วยเร่งการขายสินทรัพย์รอการขายในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอได้อีกด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในสัดส่วน 20% เป็นที่ดินเปล่าในขณะที่ 34% เป็นบ้านเดี่ยว และส่วนที่เหลือมีการกระจายตัวที่ดีในอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท ส่วนในด้านสถานที่ตั้งนั้น อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมีทำเลอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในสัดส่วนประมาณ 41% ในเขตภาคกลาง 17% และส่วนที่เหลือกระจายไปตามภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ทุก ๆ ปีเพื่อช่วยให้บริษัทตั้งราคาขายสินทรัพย์ได้ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุดอีกด้วย

  • เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์จากการที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมยังคงอ่อนแอถึงแม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือมากมายที่ออกโดย ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบก็ตาม หนี้เสียจากสถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินของไทยและต่างชาติตลอดจนบริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.3 แสนล้านบาทในปี 2564 จาก 4.65 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยจำหน่ายหนี้เสียออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการลดหนี้เสียของสถาบันการเงินต่าง ๆ หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลงในปี 2564 ซึ่งเห็นได้จากการริเริ่มของ ธปท. ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย วิธีดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะซื้อสินทรัพย์และเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการจัดเก็บหนี้ที่ช้าลงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอนี้จะยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกฝ่าย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
  • การซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพใหม่จะอยู่ที่ระดับ 9 พันล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่า
  • เงินสดที่จัดเก็บได้จากการบริหารสินทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วนต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%-3.5% ของเงินกู้ยืมเฉลี่ย
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 31%-32%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งและดูแลให้ระดับการก่อหนี้อยู่ในระดับปานกลางเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะในการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจในเชิงรุกโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงเกินกว่า 2.75 เท่าอย่างต่อเนื่อง หรือผลประกอบการทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5% อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ