ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ"
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนของบริษัทซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงและมีผู้ประกอบการหลากหลาย และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจคลังสินค้า อันดับเครดิตถูกลดทอนโดยระดับหนี้สินของบริษัทซึ่งอยู่ในระดับสูงจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องท่ามกลางผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนความกังวลต่อแผนการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจจะทำให้ภาระหนี้สินและระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอีก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกดดันธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทลูกหลักคือ บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 และมาตรการห้ามรับประทานที่ร้านเป็นครั้งคราวตลอดปี 2564 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายระลอกและมีการกลายพันธุ์ของโรคโควิด 19
ทั้งนี้ "เกรฮาวด์ คาเฟ่" (Greyhound Cafe - GHC) เป็นร้านอาหารในเครือของบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากพึ่งพารายได้หลักจากการรับประทานที่ร้านอีกทั้งความพยายามในการบริการอาหารเดลิเวอรี่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปจากมาตรการจำกัดการเดินทางและแนวโน้มการปรับตัวทำงานจากบ้านก็ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของร้าน "โอ บอง แปง" (Au Bon Pain -- ABP) อย่างมากด้วยเช่นกัน โดยยอดขายของทั้ง 2 ร้านดังกล่าวซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดของบริษัทรวมกัน ลดลง 53% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
อย่างไรก็ตาม รายได้ของร้าน "ดังกิ้น" (Dunkin) ในปี 2564 ฟื้นตัวกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นผลจากการขยายสาขา และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยเน้นการเปิดร้านขนาดเล็ก (Kiosk) ในสถานีบริการน้ำมันและศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต Hypermarket) โดยการเปิดร้านขนาดเล็กดังกล่าวใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเปิดร้านในรูปแบบเดิมและมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายสาขามากกว่า นอกจากนี้ สาขาในสถานีบริการน้ำมันและศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตยังได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากรัฐที่น้อยกว่าด้วย
ในขณะที่ร้านอาหารของบริษัทในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสก็เริ่มฟื้นตัวในปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วย อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายระลอกตลอดปี 2564
ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 2.3 พันล้านบาท แต่ยังคงลดลง 24% หากเทียบกับปี 2562 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 425 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนของบริษัท การได้รับการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ร้านจากผู้ให้เช่าในบางช่วง และการสนับสนุนจากรัฐบาลในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
- ธุรกิจร้านอาหารจะทยอยฟื้นตัวในขณะที่อัตรากำไรจะถูกกดดัน ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะทยอยฟื้นตัวหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดีขึ้น ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.9-3.6 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะผ่อนคลายมากกว่าปีที่แล้ว จากการที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจร้านอาหาร โดยคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในช่วงปีประมาณการ เปรียบเทียบกับระดับ 18% ในปี 2564 ทำให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 440-570 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความนิยมใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับบริษัทจากการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในขณะที่บริการอาหารเดลิเวอรี่ของบริษัทมีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาแป้งสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของ "โอ บอง แปง" และ "ดังกิ้น" ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบปานกลางเนื่องจากบริษัทมีการตกลงราคาแป้งสาลีกับผู้ขายวัตถุดิบสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมากยิ่งขึ้น
- แผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากความพยายามในการกระจายธุรกิจไปต่างประเทศ ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทจึงได้ซื้อกิจการร้านอาหาร "Le Grand Vefour" ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทยังได้เปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของร้านอาหารทั้ง 2 แห่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้และยิ่งอ่อนตัวลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจคือ Mr. Guy Martin ซึ่งเป็นหัวหน้าเชฟของร้าน Le Grand Vefour เพื่อเปิดร้านอาหารเพิ่มอีก 4 แห่งในกรุงปารีส ได้แก่ "Pasco" "Augustin" และ "A-Noste" ซึ่งเปิดในปี 2563 และ "La Mere Lachaise" ที่เปิดในช่วงต้นปี 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการขยายธุรกิจในต่างประเทศประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีโอกาสในการเติบโตที่สูงขึ้น
- มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสาร ธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจนี้อยู่ที่ประมาณ 380-400 ล้านบาทต่อปีและมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-60% ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจคลังสินค้าของบริษัทจะเติบโตขึ้นเล็กน้อย โดยภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจคลังสินค้าของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 400-430 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 และบริษัทจะยังคงมีอัตรากำไรที่ระดับประมาณ 60% ในช่วงเวลาดังกล่าว
- การลงทุนในธุรกิจใหม่ล่าช้ากว่ากำหนด บริษัทอยู่ในระหว่างการลงทุนในโครงการซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมืองภูเก็ต โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโรงแรมขนาด 62 ห้อง 1 แห่งและร้านอาหาร 1 แห่ง ต้นทุนในการก่อสร้างโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 280 ล้านบาทซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากการกู้ยืม โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 แต่กลับล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากมีการแก้ไขแบบทางด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งยังมีผลกระทบจากโรคโควิด 19 บริษัทมีแผนจะเปิดร้านอาหารในโครงการดังกล่าวในช่วงปลายปี 2565 ในขณะที่การลงทุนในส่วนของโรงแรมน่าจะล่าช้าออกไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่แน่นอน
- ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ระดับหนี้สินของบริษัทลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2564 เนื่องจากกำไรของบริษัทลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ 4.7 เท่าในปี 2564 จาก 5.4 เท่าในปี 2563 ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 5.2 เท่าในปี 2565 เนื่องจากการลงทุนที่สูง ก่อนจะทยอยปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 4.1 เท่าในปี 2567 จากการที่กำไรของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 490 ล้านบาทในปี 2565 และรวมประมาณ 350 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2567 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อขยายสาขาโดยเฉพาะสาขาของร้าน "ดังกิ้น" การลงทุนเพื่อขยายธุรกิจคลังสินค้า รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ
ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวภาระหนี้ประมาณ 1.7 พันล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและเงินกู้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันที่บริษัทลูก ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมเท่ากับ 87% ซึ่งสูงกว่า 50% ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้" ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.59 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารของบริษัทยังมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2.5 เท่า โดย ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.6 เท่า ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าบริษัทยังเหลือส่วนต่างพอสมควรที่จะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวดังกล่าวได้ตลอดช่วงประมาณการ
- สภาพคล่องตึงตัว
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2564 ประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 320 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท และวงเงินกู้ที่สามารถเบิกได้ 180 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 470 ล้านบาท ภาระค่าเช่าจ่ายจำนวน 350 ล้านบาท และเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 490 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทอาจจะต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อทดแทนเงินกู้ก้อนใหญ่ ที่ใกล้ครบกำหนดชำระและเพื่อให้เพียงพอต่อการลงทุนด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 3.3-4.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
- กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 680 ล้านบาทในปี 2565 และอยู่ที่ 790-840 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
- เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 490 ล้านบาทในปี 2565 และรวม 350 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งต่อแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ไม่ว่าจะเกิดจากผลกระทบในด้านลบที่ยืดเยื้อจากการระบาดของโรคโควิด 19 หรือจากการที่บริษัทมีการลงทุนเชิงรุกโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่สูงกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ทริสเรทติ้งอาจเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากผลการดำเนินงานของบริษัทแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจนทำให้ระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง