นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 จะเติบโตดีต่อเนื่อง เป็นไปตามความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย แต่ด้วยซัพพลายที่จะยังมีไม่เพียงพอต่อดีมานด์ จากการคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศตะวันตก ก็ส่งผลให้ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้น จึงส่งผลดีต่อธุรกิจโรงกลั่น
อย่างไรก็ตาม บริษัทประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนสามารถนำไปสู่การยุติสงครามได้ ราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวลง หรือเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 95-100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แม้จะมีอุปทานเข้ามาเพิ่มขึ้นจากฝั่งโอเปก อิหร่าน และสหรัฐ แต่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียก็น่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะคงไม่สามารถจะยกเลิกได้ทันทีหากยุติสงคราม
ขณะที่หากการเจรจาเพื่อยุติสงครามล้มเหลว คาดว่าคงมีจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงได้บ้าง แต่ยังยืนตัวในระดับสูงในช่วงระดับ 110-115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรืออาจปรับขึ้นไปได้มากกว่านี้ เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก และยุโรปก็มีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเกือบ 30% จึงยังเป็นความเสี่ยงต่อยุโรป
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า มุมมองต่อค่าการกลั่นในปีนี้คาดว่าจะดีกว่าปีก่อน ตามดีมานด์เบนซินและดีเซลทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปลายปี 64 ทำให้ปัจจุบันค่าการกลั่นกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่ก็ยังมีอัพไซด์จากตลาดผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นดีเซลและแก๊สโซลีนค่อนข้างตึงตัวมาก เพราะส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบดูไบ (Spread) ปรับตัวขึ้นสูงมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปด้วย และการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น โดยสต็อกน้ำมันดีเซล รวมถึงแก๊สโซลีนทั่วโลกก็อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ค่าการกลั่นสามารถยืนตัวกลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว ผ่านการเพิ่มทุนและปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในช่วงไตรมาส 3/64 ที่ผ่านมา รวมถึงรองรับการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคตของไทยออยล์นั้น
บริษัทเตรียมเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) ช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน GPSC จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 10.78% หรือมูลค่ารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท คาดว่าการดำเนินการขายหุ้นจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2/65 จากนั้นจะรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและกำไรจากการเปลี่ยนแปลงบันทึกบัญชีเงินลงทุน GPSC ประมาณ 11,000 ล้านบาทเข้ามาทันที
นอกจากการขายหุ้น GPSC แล้ว บริษัทคาดว่าจะดำเนินการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (PO) จำนวนไม่เกิน 275.12 ล้านหุ้นได้ภายในช่วงไตรมาส 3/65 ซึ่งการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้จะแบ่งเป็นเสนอขาย PO จำนวนไม่เกิน 239.23 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) จำนวนไม่เกิน 35.88 ล้านหุ้น
การระดมทุนทั้ง 2 ส่วนเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะกลางถึงยาวของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปชำระคืนหนี้ bridge loans มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาทให้กับบมจ.ปตท. (PTT) และสถาบันการเงิน จากการลงทุนในธุรกิจโอเลฟินใน CAP ประเทศอินโดนีเซีย
โดยประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจะหนุนให้ฐานทุนของบริษัทจะใหญ่มากขึ้นและคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) รวมถึงลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) ให้ไม่เกิน 1 เท่า จากสิ้นปี 64 ที่อยู่ระดับ 1.4 เท่า ซึ่งช่วยทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
บริษัทยังได้ทบทวนแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจ พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด "Building on Our Strong Foundation" ต่อยอดธุรกิจจากพื้นฐานด้านการกลั่นที่แข็งแกร่งของบริษัทไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการโดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง รวมถึงกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% ภายในปี 73