INTERVIEW: NEX โหนกระแสยานยนต์ไฟฟ้าสู่วันปลดล็อกมูลค่าแท้จริง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 1, 2022 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) จับจังหวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคาน้ำมันพุ่งสูงเหนือ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลากหลายธุรกิจหันมาสนใจเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า (EV) แทนรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถเชิงพาณิชย์ ทั้งรถขนส่งสินค้า รถบัสโดยสาร มองหาความคุ้มค่าการลงทุน NEX ถือเป็นรายเดียวที่ตอบสนองความต้องการนั้นได้ หลังซุ่มสร้างโรงงานประกอบรถ EV และจับมือพันธมิตรเจ้าใหญ่อย่าง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ในการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าป้อนให้กัยสายการผลิต

NEX เชื่อว่าปีนี้บริษัทจะเข้าสู่โหมดเก็บเกี่ยวจากการเริ่มการทยอยผลิตรถไฟฟ้า (EV)เชิงพาณิชย์ และส่งมอบในเดือน เม.ย.นี้จนถึงสิ้นปี 65 จำนวนกว่า 4,400 คัน หลังเริ่มทดสอบการผลิตและส่งมอบรถโดยสารให้กับรถร่วมเอกชน ขสมก.เมื่อปลายปีไปแล้ว 120 คัน เป็นตัวจุดพลุโอกาสการสร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า กระแสความนิยมใช้รถ EV เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เชื่อว่าเป็น key point และจังหวะนี้มาถึงแล้ว โดยเฉพาะจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ผลกระทบที่ตามมา คือ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ลูกค้ามองหาความคุ้มค่าในการลงทุนและการใช้งาน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ารถเชิงพาณิชย์ไม่เหมือนรถยนต์ส่วนบุคคล เพราะต้องใช้ทำมาหากิน ฉะนั้น ต้องมองถึงความคุ้มค่าการลงทุน ยิ่งน้ำมันปรับขึ้นสูงเท่าไร ความคุ้มค่าของการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จึงเห็นว่ารถไฟฟ้าเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงจังหวะนี้

NEX ได้รับคำสั่งซื้อและผลิตรถเมล์ไฟฟ้าให้กับกลุ่มรถร่วม ขสมก.(องค์การขนส่งมวลชกรุงเทพ) จำนวน 4,000 คัน และรถร่วม บขส.(บริษัท ขนส่ง จำกัด) จำนวน 400 คัน โดยจะเริ่มผลิตและทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน เม.ย.65 ไปจนถึงสิ้นปี 65

นอกจากนี้ NEX ยังมีลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนรถขนส่งสินค้ามาเป็นรถไฟฟ้าอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่ใช้โลจิสติกส์มากๆ อย่างเช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มนี้แทบทั้งหมดต้องการรถเพื่อขนส่งสินค้า ยกตัวอย่าง บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) ที่อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในกระบวนการขนส่ง

"รถไฟฟ้าเหมือนรถกินยาอายุวัฒนะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่ส่วนใหญ่ พอถึงเวลาการใช้ก็ต้องมีการซ่อมบำรุงในส่วนเครื่องยนต์ ซึ่งจะใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้ารถน้ำมันจะไม่มีมูลค่าเลย เพราะทุกคนหันมาใช้รถไฟฟ้ากันหมดแล้วก็เหมือนเครื่องมือถือโนเกียเก่าๆ

ตรงกันข้าม ถ้าเป็นรถไฟฟ้า สัก 8-10 ปี เมื่อมีการพัฒนาแบตเตอรี่ หากแบตเตอรี่เสื่อม เราแค่หาอันใหม่ทดแทน รถคันนั้นก็ยังสามารถใช้งานต่อไปได้อีก มันคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ใช่รถอีกต่อไป ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของรถไฟฟ้า จึงเป็นความคุ้มค่าที่ลงทุนมากกว่ารถสันดาปในปัจจุบัน

ผมเชื่อว่าอนาคตข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ด้วยดีมานด์ซัพพลายที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ในส่วนแบตเตอรี่น่าจะมีการปรับราคาลง ซึ่งเราก็ยังใช้รถต่อไปได้แค่เปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือ เช่าใช้แบตเตอรี่"นายคณิสสร์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในระยะเริ่มแรกราคารถ EV อาจจะแพงกว่ารถทั่วไปราว 30-50% แต่ส่วนต่างดังกล่าวจะถูกทดแทนด้วยการประหยัดราคาน้ำมัน เมื่อเปลี่ยนพลังงานหลักมาเป็นกระแสไฟฟ้า โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี จะถึงจุดคุ้มทุนจากส่วนต่างราคาดังกล่าว และถ้ายิ่งราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ บางทีอาจใช้เวลาสั้นลงกว่านั้นอีก

นอกจากนี้ ลูกค้าก็ยังได้ประโยชน์อื่นตามมาด้วย อาทิ อัตราการซ่อมบำรุง หรือค่าซ่อมบำรุงก็จะถูกลง เพราะเมื่อเป็นรถไฟฟ้า ชิ้นส่วน หรือ อะไหล่ที่เป็นส่วนประกอบกของรถยนต์จะน้อยลงมาก และไม่ต้องเสียเวลาเข้าศูนย์เช็คระยะ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันเกียร์ เมื่อขับไปถึงระยะทางที่กำหนด จึงสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง นอกจากนั้นอาจแก้ไข pain point ของผู้ประกอบการบางแห่งที่พบปัญหาการขโมยน้ำมันหรือทุจริตค่าน้ำมัน เพราะหากเป็นรถไฟฟ้าก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

นายคณิสสร์ กล่าวว่า ตลาดรถเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก มองเป็นตลาด Blue Ocean โดยรถบรรทุกในประเทศมีปริมาณการใช้งานถึงปีละ 2-3 หมื่นคัน ขณะที่รถกระบะมียอดผลิตปีละ 5 แสนคัน ซึ่งรวมการส่งออก คาดว่าผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการเพียงการซื้อรถ EV เพื่อขยายจำนวนรถใช้งาน แต่มองถึงการเปลี่ยนรถที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใข้รถ EV ทั้งหมด และยังมีรถขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้ง Mining Truck รถอุตสาหกรรม รถขนน้ำ รถขยะ และ รถปัดกวาดถนน เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นช่องทางในตลาดรถตู้โดยสาร EV ที่คาดว่าหน่วยงานราชการเตรียมตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างรถตู้โดยสาร EV ในงบปี 66 ตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มาใช้รถ EV แทน เพื่อประหยัดพลังงาน โดยคาดว่าจะมีออเดอร์รถประเภทนี้ปีละ 1-2 หมื่นคัน

และรถมินิบัสความจุ 20 ที่นั่ง และขนาดใหญ่สุด 45 ที่นั่ง ซึ่งน่าจะเป็น Hero Product โดยในเดือน เม.ย.นี้ NEX จะเปิดตัวสินค้าในกลุ่มนี้

*มั่นใจปี 65 Turnaround

นายคณิสสร์ กล่าวอย่างมั่นใจว่าในปีนี้ผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรแน่นอน หลังจากปีที่ผ่านมา NEX วางรากฐานจึงยังไม่เห็นการเติบโต แต่เมื่อเรามีความพร้อมวันนั้นเราจะเริ่มวิ่ง ซึ่งขณะนี้ NEX ประกาศชัดเจนแล้วว่าเรามีความพร้อม ทั้งโรงงาน และโปรดักส์ อีกทั้งโครงข่ายที่ช่วยบริษัททำการตลาด ดังนั้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลของการลงทุนที่จะทำให้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่เข้ามาในตลาดนี้ก่อนเจ้าอื่น

บริษัทคาดว่ารายได้ในปีนี้จะทำได้สูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการผลิตและส่งมอบรถ EV จำนวน 3-4 พันคัน ซึ่งราคารถโดยสารไฟฟ้าสูงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน 30-50% หรือราคาเฉลี่ยต่อคัน 6-7 ล้านบาท ขึ้นกับสเปก อย่างกรณีของรถร่วม ขสมกงกับรถธรรมดาต่างกัน 5 ล้านบาท ส่วนรถกระบะจัมโบ้ขนาดบรรทุก 2.5 ตัน ราคาอยู่ที่คันละ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่มีความจุและการขนส่งได้ดีกว่า

"เป้าหมายของบริษัท เราต้องการวิ่งให้เร็วกว่าคู่แข่ง เพราะธุรกิจปัจจุบันไม่ได้แข่งว่าใครจะมีทุนเยอะกว่า แต่แข่งที่ว่าใครวิ่งเร็วกว่า มันไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว ปลาที่ว่ายน้ำเร็วกว่ากินปลาที่ว่ายน้ำช้ากว่า

ถ้ามอง ณ ขณะนี้ NEX มีความได้เปรียบอยุ่ เพราะทุกอย่างใน Ecosystem เรามีครบแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะต้องรักษาฐานตรงนี้ไว้อย่างไร ให้มันอยู่ยงคงกระพัน ฉะนั้น เราจะต้องตื่นตัวตลอด ต้องไม่หยุดอยุ่กับที่ ต้องไม่พอใจกับผลงานปัจจุบัน เราต้องโฟกัสไปข้างหน้า ต้องวิ่งไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าวันนั้นจะเป็นวันที่ประกาศต่อผู้ถือหุ้นได้ว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว"นายคณิสสร์ กล่าว

*เล็งหารือ EA ขยายกำลังการผลิต

นายคณิสสร์ กล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการรถ EV แบบเชิงพาณิชย์ที่เห็นว่าการสั่งซื้อคงไม่ใช่แค่เพื่อขยายจำนวนรถ แต่เป็นการสั่งซื้อเพื่อทดแทนรถในกองรถเดิม ซึ่งมีวอลุ่มมากกว่า โดยขณะนี้การใช้รถเชิงพาณิชย์ในไทยทั้งรถใหม่และรถเก่ามียอดสะสมกว่า 3 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ ถือเป็นตลาดใหญ่มาก

ดังนั้น บริษัทเตรียมหารือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่เป็นพันธมิตรที่เป็นผู่ผลิตแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้า เพื่อวางแผนขยายโรงงานใหม่รองรับความต้องการรถ EV โดยบริษัทคาดว่าจะต้องใช้เวลาสร้างโรงงานราวปีครึ่งถึง 2 ปี โดยจะขยายทั้งการผลิตแบตเตอรี่และโรงงานประกอบรถเพิ่มอีกเท่าตัว ใช้เงินลงทุนในการขยายโรงงานประกอบรถ 1,500-2,000 ล้านบาท และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 2-3 เท่าตัว เป็นเงิน 4,500-6,000 ล้านบาท

ปัจจุบันโรงงานรถโดยสารไฟฟ้าอยู่ภายใต้การบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม EA ถือ 55% และ NEX 45% ดำเนินธุรกิจผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ทุกประเภท ตั้งอยู่ใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่การผลิต 55,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 1,750 ล้านบาท ปัจจุบัน โรงงาน AAB ก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อย และมีกำลังการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าอยู่ที่ปีละ 3,000 คันต่อปี และผลิตเพิ่มได้เป็น 6,000 คันต่อปีหากทำงาน 2 กะ

ขณะที่บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (AMITA) บริษัทในกลุ่ม EA เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานที่ทันสมัยและครบวงจรใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

https://youtu.be/Ngap3Wam9S0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ