ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1.2 หมื่นลบ.ของ KTC ที่ AA- /Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 5, 2022 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี ของบริษัทที่ระดับ "AA-" ด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัท (SACP) ที่ระดับ "a-" เพื่อสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ ธนาคารกรุงไทย (KTB - ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ "AA+/Stable"*)

สถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่มีความระมัดระวัง และฐานทุนที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากแรงกดดันที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • บูรณาการระหว่างบริษัทและ KTB เพิ่มมากขึ้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ KTB ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49.3% บริษัทมีบทบาทที่ชัดเจนในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยให้ KTB ซึ่งประกอบไปด้วยการให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และธุรกิจลีสซิ่งรถยนต์ การสนับสนุนทั้งทางด้านการให้วงเงินสินเชื่อและการสนับสนุนทางด้านธุรกิจจาก KTB แสดงให้เห็นถึงความช่วยเหลือที่เข้มแข็งและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทริสเรทติ้งยังเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก KTB เมื่อบริษัทตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนจาก KTB เนื่องจากเป็นนโยบายของกลุ่มที่จะรักษาสถานะของบริษัทไว้ให้เป็นบริษัทลูกภาคเอกชน

ความร่วมมือทางธุรกิจและระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทได้รับการบูรณาการให้รวมอยู่ในระบบบริหารความเสี่ยงของ KTB ด้วยเช่นกัน นอกจากแผนการตลาดและการใช้ชื่อหรือตราสัญลักษณ์ร่วมกันแล้ว บริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของ KTB ที่มีอยู่ทั่วประเทศในการเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการลูกค้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 บริษัทได้รับเริ่มรับลูกค้าใหม่ผ่านแอพพลิเคชั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินของ KTB ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่เรียกว่า KTB Next นอกจากนี้ KTB และบริษัทยังได้ถือหุ้นหลายบริษัทร่วมกันในกลุ่มธุรกิจการเงินของ KTB ได้แก่ บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) บริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัด บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด และ บริษัท เคทีซี พรีเพด จำกัด นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้น 24% ใน บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดใน บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างเทคโนโลยีทางการเงินให้กับ KTB?

  • รักษาสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาสถานะการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท อันได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากจุดแข็งในด้านการตลาดและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 13% ของสินเชื่อบัตรเครดิตและ 5% ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เอาไว้ได้ ณ สิ้นปี 2564

เงินให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 9.26 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 3% จากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรวมสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มเข้ามา 3.2 พันล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลง 2% จากปีก่อน เนื่องจากนโยบายในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้นอันเนื่องมาจากความกังวลในคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.957 แสนล้านบาท (หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 12% ของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในอุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทมีเป้าหมายเชิงรุกที่จะขยายเงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทตั้งแต่ปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความพยายามทางการตลาดและการขยายฐานลูกค้าใหม่ บริษัทมีเป้าหมายในการออกบัตรเครดิตใหม่จำนวน 250,000 บัตรในปี 2565 โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาดีขึ้นโดยจะขยายตัวที่ระดับ 8% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวและความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้นเพื่อกระตุ้นปริมาณการใช้จ่าย สำหรับการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น บริษัทจะให้ความสำคัญกับกลุ่มฐานลูกค้าที่มีรายได้ที่สูงขึ้นรวมทั้งฐานลูกค้าเดิมที่ยังใช้วงเงินเบิกถอนไม่เต็มจำนวน และมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่อีกจำนวน 106,000 บัญชีในปี 2565

  • พอร์ตสินเชื่อกระจายตัวมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2563 บริษัทได้เริ่มกระจายความเสี่ยงของสินเชื่อโดยการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันภายใต้แบรนด์ "เคทีซี พี่เบิ้ม" ภายหลังจากช่วง 2 ปีที่บริษัทมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างระมัดระวังเพื่อสร้างความมั่นใจถึงการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริษัทมีแผนจะขยายสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่จะอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2565 จากระดับสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่แล้วประมาณ 500 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อจากการเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการลูกค้าผ่านเครือข่ายประมาณ 950 สาขาของ KTB ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 และคาดว่าสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 20%-50% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567

ในขณะที่ธุรกิจลีสซิ่งที่ดำเนินการผ่าน KTBL ก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการกระจายตัวของสินเชื่อของบริษัทในระยะยาว ถึงแม้ว่ายังไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมภายหลังจากบริษัทซื้อหุ้น 75% ใน KTBL มาจาก KTB อันเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มธุรกิจการเงินในปี 2564 หากบริษัทสามารถผลักดันการเติบโตของ KTBL ได้เพิ่มเติมก็จะช่วยเพิ่มการกระจายตัวของธุรกิจมากขึ้นด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่า สินเชื่อของ KTBL จะเติบโตที่ระดับ 5%-10% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 โดยเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของเคทีซี พี่เบิ้มซึ่งมีการบันทึกผ่าน KTBL

  • การบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพโดยอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 (NPL) ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จาก 1.8% ในปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการควบรวม KTBL เข้ามา ในขณะที่ NPL Ratio ของลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในระดับ 1.2% และ 2.9% ตามลำดับและยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่า NPL Ratio จะอยู่ระดับต่ำกว่า 3% ในระหว่างปี 2565-2567 จากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อ

ขณะที่ NPL Ratio ของสินเชื่อเช่าซื้อจาก KTBL ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 54% นั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากคุณภาพที่ดีขึ้นของลูกหนี้รายใหม่ที่รับเพิ่มเติมเข้ามา อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 292% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จาก 460% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นผลมาจาก NPL ที่ค่อนข้างสูงของ KTBL ในปี 2564 อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยลดลงเป็น 6% จากระดับเฉลี่ย 7.6% ในปี 2561-2563 ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะยังคงอยู่ที่ระดับ 6% ในระหว่างปี 2565-2567 ในขณะที่ NPL Coverage ยังคงรักษาให้อยู่ในระดับมากกว่า 300%

  • การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรับและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไร ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรในระดับปานกลางเอาไว้ได้ โดยใช้วิธีบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 5.79 พันล้านบาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยรับจะลดลงอันเนื่องมาจากเพดานอัตราดอกเบี้ยรับที่ต่ำลงตามเกณฑ์การประกอบธุรกิจจากหน่วยงานกำกับดูแลและการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมก็ตาม โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) นั้นอยู่ในระดับปานกลางที่ 4.9% ในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นจาก 4.5% ในปี 2563

ทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBT/ARWA จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 4.6%-4.8% ในระหว่างปี 2565-2567 และคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจะปรับลดลงเพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น แต่การขยายธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยรับสูงกว่าจะช่วยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมให้มากกว่าระดับ 14.9% ในปี 2564 ได้ ทางด้านค่าใช้จ่ายทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 34%-35% ในระหว่างปี 2565?2567 จากการใช้จ่ายทางด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ฐานทุนยังคงแข็งแกร่ง บริษัทมีระดับฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งโดยประเมินจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 บริษัทมี RAC Ratio ที่ระดับ 18.2% ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ฐานทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับแผนการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง โดยผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังจะทำให้ฐานทุนของบริษัทมีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษาฐานทุนให้มีความแข็งแกร่งโดยมี RAC Ratio อยู่ที่ระดับ 18.1%-20.6% ในช่วงระหว่างปี 2566-2567 ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6%-11% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567 และอัตราการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 40% บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 10 เท่า
  • มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ การที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน รวมทั้งวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งก็ยังเพียงพอและเป็นแหล่งระดมเงินทุนที่หลากหลายที่จะช่วยรองรับการเติบโตของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอจาก KTB เพื่อช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 วงเงินสินเชื่อในสัดส่วน 71% ของวงเงินสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 3.37 หมื่นล้านบาทของบริษัทนั้นเป็นวงเงินที่ได้รับจาก KTB ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ สิ้นปี 2564 หนี้สินทางการเงินระยะสั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 34% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งลดลงจาก 39% ในปี 2563 ณ วันที่ 4 เมษายน 2565 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวน 4.59 หมื่นล้านบาท โดย 8.5 พันล้านบาทจากจำนวนดังกล่าวจะถึงกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 ซึ่ง
  • บริษัทมีแผนรองรับการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่าแล้ว แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยังคงมีต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตค่อนข้างคงที่ในปี 2564 ที่ระดับ 1.65 ล้านล้านบาทจากที่ปรับตัวลดลง 12.8% ในปี 2563 ในขณะที่ยอดคงค้างของบัตรเครดิตในอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.9% ในปี 2564

คุณภาพสินทรัพย์ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลฟื้นตัวเล็กน้อย โดย NPL Ratio สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 1.8% ณ สิ้นปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น จาก 1.9% ณ สิ้นปี 2563 ขณะที่ NPL Ratio ของสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งไม่รวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถปรับลดลงเป็น 3.1% ในปี 2564 จาก 3.5% ในปี 2563 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของทริสเรทติ้งคุณภาพสินทรัพย์ทั้งระบบยังคงมีความเปราะบางและมีแนวโน้มอ่อนแอลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากการสร้างรายได้ยังคงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้

  • สินเชื่อรวมคงค้างของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6%-11% ต่อปี
  • อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยรับจะอยู่ในช่วง 14.8%-14.9%
  • ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วง 2.5%-2.8%
  • ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 6%-6.3%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งด้วยว่าฐานทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากฐานทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดย RAC Ratio อยู่ในระดับเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หาก RAC Ratio อยู่ในระดับต่ำกว่า 12% หรือคุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบทำให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มสูงเกินกว่า 10%

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระดับการให้การสนับสนุนที่ KTB มีต่อบริษัท หรือมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ