นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า บมจ.การบินไทย (THAI) ได้ยื่นเรื่องขอโอนจำหน่ายเครื่องบินมาเมื่อปี 64 เป็นเครื่องบินโบอิ้ง B737-400 จำนวน 1 ลำ ต่อมายื่นเครื่องบินโบอิ้ง B747-400 จำนวน 10 ลำ รวม เป็น 11 ลำ แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถอนุมัติโอนจำหน่ายโบอิ้ง B737-400 ลำแรกได้ เนื่องจากพบว่ารายละเอียดเอกสารยังไม่ครบถ้วน เช่น มีการทำสัญญาขายก่อนที่จะเข้าแผนฟื้นฟู จึงมีประเด็นข้อสงสัย เพราะขณะนี้การบินไทยต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟู จะต้องมีการยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นของรายละเอียดสัญญามีการลงนามอย่างไรวงเงินเท่าไร และการชำระเงินเป็นอย่างไร ซึ่งเอกสารด้านการเงินที่ยื่นมาเป็นสัญญาค้ำประกันซองของเครื่องบินอีกลำ
ดังนั้น ก่อนหน้านี้จึงแนะนำให้การบินไทยยื่นเรื่องให้ศาลล้มละลายวินิจฉัยว่าจะสามารถจำหน่ายเครื่องบินได้หรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.65 ว่าคณะบริหารแผนฟื้นฟูมีอำนาจในการจำหน่ายเครื่องบิน การบินไทยจึงนำหนังสือคำวินิจฉัยของศาลมายื่นต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) และกพท.ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมในวันที่ 16 มี.ค.65 เพื่อพิจารณาอนุญาตให้บริษัทฯ โอนเครื่องบิน เมื่อตรวจสอบเอกสารขั้นตอนว่าถูกต้อง ตนในฐานะ รมว.คมนาคม จึงได้ลงนามอนุมัติ โอน (ขาย) โบอิ้ง B737-400 จำนวน 1 ลำไปแล้ว วันที่ 5 เม.ย.65
ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง B747-400 อีก 10 ลำนั้น การบินไทยได้เสนอขออนุมัติโอน แต่พบว่ามีเอกสาร 5 ฉบับยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้ โดยเมื่อต้นเดือน เม.ย. นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงการบินไทยให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งเอกสารการโอนจำหน่ายเครื่องบิน ได้แก่ สัญญาซื้อขาย ,เอกสารการชำระเงิน ,บัญชีทรัพย์สินที่ยื่นในแผนฟื้นฟู เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้ โดยระบุว่า การบินไทยอยากให้นายทะเบียนพิจารณาและลงนามอนุมัติโอน (ขาย) ให้ภายในวันที่ 9 เม.ย.65 เนื่องจากผู้ซื้อเร่งรัดมา ซึ่งได้รายงานข้อเท็จจริงกับนายกฯไปแล้วหลายครั้งว่าหากการบินไทย จัดส่งเอกสารมาให้อย่างครบถ้วนถูกต้องพร้อมอนุมัติทันที แต่หากเซ็นไปทั้งที่เอกสารไม่ครบถ้วนตนในฐานะนายทะเบียนก็มีความผิด
"ยืนยันว่านายทะเบียนไม่มีอำนาจในการถ่วงการขายเครื่องบินของการบินไทยแต่อย่างใด หน้าที่ของนายทะเบียนโอนเครื่องบิน ไม่ต่างจากการซื้อรถยนต์ ผู้ซื้อขาย ตกลง ชำระเงินครบ ออกใบเสร็จ แสดงหลักฐานการชำระเงิน ทำการโอนได้ และไม่ได้ไปดูว่า จะขายราคาเท่าไร จะถูกหรือแพงด้วย"
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาการโอน (ขาย) อากาศยาน นั้น ไม่ได้มีเฉพาะเครื่องบินของ การบินไทยฯ เท่านั้น ทุกสายการบินของไทยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการครอบครองอากาศที่จดทะเบียนในไทยต้องยื่นเรื่องมาเช่นกัน อย่างเช่น สายการบินแอร์เอเชีย ก็เสนอมา ซึ่งตนในฐานะนายทะเบียน มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการโอน (ขาย) หากเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง ก็ดำเนินการอนุมัติให้ไปตามหน้าที่