นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอยกเลิกระบบหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) และมาตรการ "Test & Go" โดยระบุว่า แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย แต่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนเม.ย. 65 มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 11,623 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อวันจำนวนกว่า 50,000 คนในเดือนเม.ย. 63
เนื่องจากสถานการณ์ของการเดินทางในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่นในการวางแผนการเดินทาง มาตรการใดๆที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือมีข้อจำกัดด้านการเดินทางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศนั้นๆจึงขอเสนอให้มีการยกเลิกระบบการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) ข้อบังคับเรื่องการทำประกันสุขภาพ และการตรวจโควิดเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยอย่างทันที เนื่องจากเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสหรือใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นก็เพียงพอต่อการอนุญาตให้เข้าประเทศแล้ว เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเลือกที่จะยึดตามหลักปฏิบัติที่ใช้กันในหลายๆประเทศ โดยการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งหมด และกลับมาใช้กฎการเข้าประเทศเดิมของประเทศไทย ดังเช่นในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัว รวมถึงการลงทะเบียนขออนุญาตเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 และประเทศกัมพูชาที่ได้กลับมาเปิดให้บริการขอ Visa on Arrival สำหรับผู้เดินทางต่างชาติทุกคน ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลตรวจ RT-PCR ของโควิด-19 และยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) เมื่อเดินทางถึงประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 65 เป็นต้นมา และยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ประเทศสหรัฐฯ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และประเทศมัลดีฟส์ ที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดของตนเองด้วยเช่นกัน
"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจัดเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ผมและผู้ประกอบการธุรกิจรายอื่นๆพร้อมที่จะทำงานกับรัฐบาลเพื่อช่วยกันวางแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย เพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว กระตุ้นอุปสงค์ ตลอดจนวางแนวทางด้านสุขภาพและอนามัยเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ความพยายามต่างๆเหล่านี้ เมื่อรวมกับการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยประสบความสำเร็จ"