นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า ปัจจุบันเห็นสัญญาณธุรกิจฟื้นตัวชัดเจนหลังจากที่ผ่อนคลายมาตรการ Test &Go โดยยกเลิกการตรวจแบบ RT-PCR เมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอยู่ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low season) ขณะที่ช่วง High season (ต.ค.-ม.ค.) ได้ชะลอจากการระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เท่าที่ดูส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางออกไปต่างประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายดังกล่าว หากภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น และการประกาศโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นวันที่ 1 ก.ค.65 จะช่วยบรรยากาศการเดินทางนักท่องเที่ยวตางชาติ รวมไปถึง รอให้ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มีนโยบายเปิดประเทศและปล่อยคนของเขาออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็จะทำให้ความหวังว่าในช่วง High season ปีนี้ ในช่วง 4 เดือน (ต.ค.65- ม.ค. 66) กลับมาคึกคัก "มีสัญญาณกลับมาแต่ยังห่างไกลจากที่เราแจ้งตลาดไว้ รออีก 6 เดือนจะถึง ต.ค.ที่เรารอคอย ถ้าประกาศโรคประจำถิ่น เป็นไพ่ใบสุดท้าย 4 เดือนทองคำมีผลมาก จะฟื้นไม่ฟื้นขึ้นอยู่กับช่วงนี้ ตอนนี้ที่เห็นเป็นแค่น้ำจิ้ม Main Course อยู่ที่ ต.ค. รอ Drive force " นายนิตินัย กล่าว ทั้งนี้ AOT เคยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า AOT คาดว่าในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 483,695 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 62.13 ล้านคน
ขณะที่ในช่วง ต.ค.64- 15 เม.ย.65 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 17,899,539 คน เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเที่ยวบินรวม 182,756 เที่ยวบิน ลดลง 1.3%
ดังนั้น บริษัทเตรียมทบทวนแผนเงินกู้ จากปีที่แล้วบริษัทได้เตรียมเงินกู้ไว้ 2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งได้ทยอยเบิกใช้ไปบ้างแล้ว หากธุรกิจปีนี้ยังไม่ฟื้นขึ้น บริษัทเตรียมจะขอขยายวงเงินกู้อีกประมาณ 6.0-6ปั.5 พันล้านบาท ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
นายนิตินัย กล่าวว่า หากโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้ AOT เข้าสู่การฟื้นฟูธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ซัพพลายเชน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องการบินของเอกชน ไม่รู้เสียหายมากน้อยแค่ไหน ได้แก่ งานบริการภาคพื้น งานคาร์โก้ โดยในช่วง 6 เดือนนี้ (เม.ย.- ก.ย.65) หากบริษัทพลาดโอกาสทางธุรกิจ ก็มองว่า ในงบปี 66-67 จะสามารถฟื้นฟูได้ และเชื่อว่าในปี 68 ธุรกิจกลับมาเท่าเดิมก่อนโควิด หรือในปี 62 ที่มีผู้โดยสารรวม 6 สนามบิน จำนวน 142 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)ที่ระบุปี 68 ธุรกิจการบินจะฟื้นกลับมา
ขณะเดียวกันมีแผนเปิดอาคารแซทเทิลไลท์ (SAT-1) ในเดือน เม.ย.66 จะรองรับผู้โดยสารสนามบสุวรรณภูมิอีก 15 ล้านคน นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าขยายส่วนต่อขยายทิศเหนือ (North Extension) สนามบินสุวรรภูมิ ที่จะรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน ซึ่งระหว่างนี้ยังรอขอความเห็นจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ IATA ก่อนนำเสนอต่อครม.เพื่อพิจารณา และ ส่วนต่อขยายทิศตะวันออก (East Extension) ที่รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน ซึ่งคาดว่ากระทรวงคมราคมจะนำเข้าที่ประชุมครม.ได้ภายในปีนี้ และก็จะเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ คาดแล้วเสร็จในปี 68 ใกล้เคียงงานก่อสร้างรันเวย์ 3 เสร็จสิ้นในปีเดียวกัน คาดว่าในปี 68 ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายจะอยู่ใกล้เคียงกัน
ส่วนการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการภายในพื้นที่สนามบิน จะไม่ขยายเวลาหลังสิ้นสุดระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ มี.ค.66 โดยกลุ่มคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหญ่ รวมถึงเชนร้านอาหารที่มีสายป่านดีก็ยังคงอยู่ ส่วนรายย่อยก็ล้มหายตายจากกันไป
นายนิตินัย ยังกล่าวว่า ในส่วนธุรกิจ Non Aero บริษัทได้เตรียมไว้หมดแล้ว การเปลี่ยนสีผังเมือง การแก้ไขสัญญาในที่ราชพัสุด ทั้งการเช่าพื้นที่ Airport City ทั้งภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และ พื้นที่ 723 ไร่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ใกล้ที่จะพิจารณาโครงการที่เอกชนเสนอ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานของ Platform digital ซึ่งขณะนี้มียอดดาวน์โหลดแล้ว 6.5 แสนราย อีกทั้ง การจัดตั้ง Certified Hub ทั้งนี้ ก็ยังเป็นไปตามแผนว่ารายได้จาก Non Aero จะขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 50% ในปี 67-68
สำหรับการรับโอนบริหารสนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ และ สนามบินอุดรธานี นายนิตินัย คาดว่า ในเดือนเม.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม. หลังจากในเดือน พ.ค. AOT จะเข้าบริหาร 2 สนามบินคืออุดรธานี และกระบี่ ส่วนสนามบินบุรีรัมย์คาดวจะเข้าไปบริหารในเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.นี้ คาดเริ่มรับรู้รายได้ในงบประมาณปี 66