นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 65 ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อจะขยับขึ้นไปแตะที่ระดับ 100,000 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจหลักคือ เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) และเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (MTPL) เป็นธุรกิจที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำธุรกิจในอนาคต โดยมีการวางแผนการทำตลาดทั้งลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และการเข้าหาลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการใช้บริการผ่านการดำเนินงานของสาขาที่มีบริการมากกว่า 5,800 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดสาขาใหม่กว่า 700 สาขาต่อปี
ขณะที่แผนการเติบโตในอีก 4 ปี ข้างหน้า หรือ ปี 69 บริษัทฯ วางเป้าพอร์ตสินเชื่อทะลุ 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เทียบปี 65 ที่วางเป้าทะลุ 100,000 ล้านบาท ซึ่งการจะก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯต้องเติบโต 20-25% ต่อปี ตลอด 4 ปี รวมทั้งควบคุมหนี้เสียไม่เกิน 2% และลดดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมกับลูกค้า
"เราให้ความสำคัญกับเงื่อนไขในการให้บริการที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ MTC ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทฯ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน โดยให้พนักงานรับผิดชอบการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของสาขา โดยการเปิดสาขา เน้นจุดที่มีชุมชน และมีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมากเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าและลดข้อร้องเรียน"นายชูชาติ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯ ได้เร่งทำการตลาดเพิ่มอีก 2 ธุรกิจ คือ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด ที่ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยตั้งเป้าว่าในปี 65 จะมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 10,000 ล้านบาท และบริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด ที่ให้บริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง กับกลุ่มลูกค้าเดิม และหาลูกค้าใหม่มาเพิ่มเติม โดยการเสนอสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ,คอมพิวเตอร์ , เครื่องใช้และของใช้ในบ้าน ตามนโยบาย ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ถือหุ้นโดยเมืองไทย แคปปิตอล เกือบ 100%
ทั้งนี้มั่นใจว่าแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในปี 65 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม ทำให้บริษัทฯสามารถรุกตลาดและขยายสาขาได้มากขึ้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากการเปิดบริการเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ ทำให้ขยายฐานลูกค้าและกลุ่มสินเชื่อให้มีความหลากหลาย ทำให้เป็นปัจจัยผลักดันสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา