นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,061.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 719.7 ล้านบาท หรือ 210.9% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564
สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 14.0% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 64.0% ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 0.8%
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดสามเดือนปี 2565 มีจำนวน 3,484.1 ล้านบาท ลดลงจำนวน 26.4 ล้านบาท หรือ 0.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 152.9 ล้านบาท หรือ 6.2% จากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 26.7 ล้านบาท หรือ 6.5% เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ สุทธิกับรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 153.1 ล้านบาท หรือ 24.1% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและรายได้อื่น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2565 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 ลดลงจำนวน 291.7 ล้านบาทหรือ 14.0% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 51.4% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ 59.3%
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin ? NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2565 อยู่ที่ 2.8% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ 3.1% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ
วันที่ 31 มีนาคม 2565 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 215.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 252.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 239.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 85.2% จาก 88.5% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.8% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3.7% เป็นผลจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 112.0% ลดลงจากสิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 117.5% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 53.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 21.9% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.9
"ผลการดำเนินงานโดยรวมมีความก้าวหน้า แม้จะยังมีความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 โดยบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพสินทรัพย์ปรับปรุงดีขึ้น และเห็นโมเมนตัมการเติบโตเชิงบวกในไตรมาสแรก กลยุทธ์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปี 2565 จะเดินหน้ามุ่งเน้นโซลูชั่นทางการเงินอย่างยั่งยืน และตอบความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด ผ่านการขับเคลื่อนจากธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย ธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอาเซียนและดิจิทัลแพลตฟอร์ม"