นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. วี เปิดเผยว่า บลจ.วีเปิดเสนอขาย IPO กองทุนเปิด วี เวียดนาม โกรท (WE-VIETGROWTH) ระหว่างวันที่ 21-28 เมษายน 2565 กองทุนมีระดับความเสี่ยงระดับ 6 (ความเสี่ยงสูง) ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม และ/หรือบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศอื่นแต่มีกิจกรรมทางธุรกิจหลักอยู่ในเวียดนาม ผ่านกองทุนหลัก KIM Vietnam Growth Fund ที่มีทีมจัดการลงทุนและวิเคราะห์ในประเทศเวียดนาม มีประสบการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมายาวนาน และเน้นบริหารการลงทุนเชิงรุก (Active Management) ด้วยการคัดเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและมีศักยภาพเติบโตจากการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยไม่เน้นการลงทุนตามดัชนี ทำให้ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนโดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ด้วยสไตล์การลงทุนที่เน้นเลือกหุ้นพื้นฐานแกร่ง และระดับราคาที่เหมาะสม ทำให้กองทุนหลัก KIM Vietnam Growth Fund ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565 ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.4% ย้อนหลัง 1 เดือนอยู่ที่ -0.6% ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -0.7% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 10.4% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 50.3% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 109.5% และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 73.8% เมื่อเทียบกับดัชนี VNIndex อยู่ที่ 7.2% ,0.2% , 5.6% , 9.2% , 32.7%, 73.0% และ 46.6% ต่อปี ตามลำดับ (แสดงผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง ไม่ปรับเป็นอัตราต่อปี) (ที่มา: KIM Vietnam as of 28 Feb 2022)
"สกุลเงินเวียดนามที่มีเสถียรภาพดี เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตโดดเด่นควบคู่ไปกับการลงทุนในประเทศต่อไป ตลาดหุ้นเวียดนามจึงที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกและกำลังจะถูกปรับสถานะจากการเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่การเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) กองทุนเปิด วี เวียดนาม โกรท (WE-VIETGROWTH) จึงเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่ บลจ.วี อยากแนะนำสำหรับการลงทุนในประเทศเวียดนามที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างชัดเจน" นายอิศรา กล่าว
นายอิศรา กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเวียดนามมีความโดดเด่นและเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาก โดยในปี 2020 GDP เวียดนามเติบโตที่ 2.9% ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถรักษาการเติบโตของ GDP ในเชิงบวกได้ ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของ Covid-19 (ที่มา: General Statistics Office (GSO) / Asia Development Bank as of September 2021)
โดยปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ในช่วงที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่เติบโตระดับสูงต่อไป คือ การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) หลังการระบาด Covid-19 ซึ่ง FDI จะยังคงไหลเข้าประเทศเวียดนามต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนภาคธุรกิจ ทั้งเรื่องต้นทุน ประโยชน์ด้านภาษี การเป็นเขตการค้าเสรี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมกับภูมิภาคอื่นๆ
ซึ่งไตรมาสแรกของปี 2022 FDI ของเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8.9% มีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมถึงจีนที่เข้าไปลงทุนเป็นหลัก ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเป็นศูนย์กลางของ Supply chain ในอนาคต เห็นได้จากบริษัทระดับโลกมองการย้ายโรงงานผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น อีกทั้งข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว มีสัดส่วนการค้าต่อจีดีพี (Goods trade of GDP) ประมาณ 200% ใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ (ที่มา: CEIC, ITC Trade Map as of May 2021 / General Statistics Office (GSO), Broker Forecasts as of November 2021)
ปัจจัยต่อมาคือ การบริโภคอยู่ในระดับสูง (Consumption Boom) จากการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) และโครงสร้างประชากรที่มีกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 25-49 ปี ในสัดส่วนกว่า 60% เป็นตลาดแรงงานสำคัญที่มีการศึกษาและมีทักษะเพิ่มขึ้น ดึงดูด FDI เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานและกระตุ้นการบริโภคจากภาคเอกชนของเวียดนามที่มีสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของเวียดนาม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% ในปี 2022 และ 3.5% ในปี 2023 แต่ยังคงต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 4% (ที่มา: CEIC, UN: World Population Prospects 2019 / CEIC, Krungsri Research, May 2021 / General Statistics Office (GSO) as of November 2021)
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสำคัญเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่เน้นการบริโภคในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยี นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ การลงทุนในพลังงานสะอาด (Green energy) รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น โดยตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ในปี 2021-2025 ที่ระดับ 6.5-7.0% (ที่มา: Krungsri research: Reginal economic, Vietnam, May 2021 / Granthonton.com: Vietnam economic outlook, Jan 2022)
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เช่น การขนส่ง การศึกษา เพื่อให้มีการเติบโตในสัดส่วน 20% ของ GDP ภายในปี 2025 และ 30%ของภายในปี 2030 ให้เติบโตสอดคล้องกับความมั่งคั่งของผู้บริโภค และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มประชากรอายุน้อย คาดว่าขนาดของ Digital Economy เวียดนามจะอยู่ที่ประมาณ 52 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 (ที่มา: The e-Conomy SEA 2020 report by Google, Temasek and Bain & Company)
"ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจ มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยระดับราคาของตลาดหุ้นเวียดนามปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ระดับ Forward P/E 15 เท่าในปี 2022 และคาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้นประมาณ 20% และคาดว่าในปี 2023 จะเติบโตประมาณ 15% ถือเป็นจังหวะดีที่จะเข้าไปลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงนี้" (ที่มา: KIM Research, Bloomberg as of 21 March 2022)