นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศและมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ตลอดจนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้เกิดการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ส่งให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และได้สะท้อนผลมาสู่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของเคทีซีในไตรมาส 1/65 ให้ขยายตัวขึ้น 7.9% ด้วยมูลค่า 52,247 ล้านบาท
อีกทั้งพอร์ตลูกหนี้ยังเติบโต และรักษาคุณภาพพอร์ตที่ดี ทำให้การตัดหนี้สูญน้อยลง ด้วยนโยบายการบริหารที่เน้นการรักษาคุณภาพของพอร์ตอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราต่ำอย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับมือกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ในกรอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ของเคทีซีได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงรักษาระดับเช่นนี้และดีขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าเคทีซีจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ตามที่วางไว้
ผลการดำเนินงานของ KTC ในช่วงไตรมาส 1/65 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 65 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 มีกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการและงบการเงินรวม 1,752 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.3%) และ 1,747 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.9%) ตามลำดับ ฐานสมาชิกรวม 3,263,842 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 90,208 ล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 3.6% (เท่ากับไตรมาส 4/64) แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,510,221 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 57,929 ล้านบาท
สำหรับ NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 753,621 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 29,125 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.6% และ พอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 3,155 ล้านบาท โดยแนวโน้มยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม" และ "กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง" (KTBL) ในไตรมาส 1/65 เพิ่มขึ้น 112.6% จากไตรมาส 1/2564 และเพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
บริษัทยังคงคำนึงถึงการสร้างความสมดุลของรายได้และค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยควบคุมต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม และสร้างพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงสอดคล้องกับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นผลให้บริษัทฯ มีฐานการขยายตัวของกำไรต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 5,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาส 1/64 มีรายได้ค่าธรรมเนียมใกล้เคียงเดิม และมีหนี้สูญได้รับคืน 857 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 834 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 3.1% จากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงที่ 13.2% และต้นทุนทางการเงินลดลง 7.4%
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 5% และค่าใช้จ่ายด้านโปรโมชันทางการตลาดสูงขึ้น เพื่อการลงทุนในการสร้างพอร์ต ที่หวังสร้างรายได้และผลกำไรให้กับธุรกิจเคทีซีในระยะยาว และบริษัทยังได้ดำเนินการนโยบายต่อเนื่อง เพื่อร่วมแบ่งเบาภาระสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 65 บริษัทได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะ (ตามประกาศ ธปท. ฝนส.2 ว.802/2564) เป็นจำนวนเงิน 2,278 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.63% ของพอร์ตลูกหนี้รวม"
ทั้งนี้ วันที่ 31 มี.ค. 65 บริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 50,367 ล้านบาท ลดลง 4.9% จากช่วงเดียวกันของปี 64 โดยมีโครงสร้างแหล่งเงินทุนมาจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว คิดเป็นสัดส่วน 29% ต่อ 71% ต้นทุนการเงินอยู่ที่ 2.6% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) 29,259 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการเติบโตทางธุรกิจของ KTC ในปี 65 ธุรกิจบัตรเครดิตจะเน้นขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนาปรับปรุงบัตรเครดิตร่วม (Co-brand) ด้วยเป้าหมายการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ 10% หรือราว 220,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะขยายฐานสมาชิกใหม่ที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเสนอบัตรกดเงินสด "เคทีซี พราว" เจาะกลุ่มผู้มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้ที่สูงขึ้น
โดยประมาณการเติบโตที่ 7% ในส่วนของธุรกิจ "เคทีซี พี่เบิ้ม" และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง ตั้งเป้ามียอดลูกหนี้ 11,500 ล้านบาท ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้งการรักษาพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพที่ดีในระดับเดิม ทั้งนี้ การจะนำพาธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ KTC จะมีค่าใช้จ่ายเชิงกลยุทธ์ในด้านการตลาดที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 65 KTC จะมีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท และกำไรที่สูงขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งยังเดินหน้ามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทย และยกระดับองค์กรสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ที่บูรณาการความยั่งยืนให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศและระดับสากล