นายกมล เอี้ยวศิวิกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ดี อี แคปปิตอล (DE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจที่จะเลือกทำธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ที่ซื้อหุ้นต่อจาก MIDA กำลังหารือกันอยู่ โดยมีบริษัท ที อาร์ ดี ซี อินเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงาน ได้ให้ทางบริษัทฯไปเลือกดูว่าจะทำอะไร
"ตอนนี้เห็นเขากำลังพูดคุย ติดต่ออยู่ เกี่ยวกับการจะให้บริษัทฯหันไปทำธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน ดังนั้น ตอนนี้ยังคุยไม่ได้ ซึ่งถ้าได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานจริง และถ้าเข้าเกณฑ์ของตลาดฯ ยังไงทางตลาดฯก็ต้องบังคับให้ย้ายเข้าไปอยู่ในกลุ่มพลังงานอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี มันอยู่ที่รายได้หลักของบริษัทฯว่ามันคืออะไร"นายกมล กล่าว
ส่วนธุรกิจเดิมของ DE ที่ทำธุรกิจลิสซิ่งก็ได้หยุดการดำเนินการมานานแล้ว ขณะนี้ที่ทำอยู่ก็แค่เก็บเงินจากลูกหนี้เท่านั้น ซึ่งก็สามารถเก็บเงินได้ด้วยดี ทำได้ตามเป้า ทำให้ตอนนี้บริษัทฯมีเงินเหลือพอที่จะนำไปใช้ในการทำธุรกิจต่อไป
กรรมการผู้จัดการ DE กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ DE คนใหม่ว่าจะส่งใครเข้ามานั่งเป็นกรรมการบ้าง และมีนโยบายการบริหารบริษัทฯอย่างไร
"ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงการบริหาร ณ วันนี้ยังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ แต่ในอนาคตก็คงเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่จะเอาไงก็ต้องว่ากันตามนั้น"กรรมการผู้จัดการ DE กล่าว
คณะกรรมการของบมจ. ดี อี แคปปิตอล (DE) ประกอบด้วย นายกมล เอี้ยวศิวิกูล เป็นกรรมการผู้จัดการ, นางพจนีย์ เผ่าสวัสดิ์, นายจารุพันธุ์ จิรายุส , นายจำนงค์ พุทธิมา และนางสาวรุ่งระวี เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ เป็นกรรมการ
โดยมีนายพิพิธ พิชัยศรฑัต เป็นประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ, นางกุณฑลา ศศะสมิต และนายพิสูจน์ สุขแสงทิพย์ เป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ
เช้านี้ ทางบมจ.ไมด้า แอสเซ็ท(MIDA) แจ้งตลาดฯว่า ได้ขายหุ้นใน DE เมื่อ 14 และ 17 มีนาคม 2551 ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Big Lot) จำนวนทั้งสิ้น 87,787,100 หุ้น ให้แก่กลุ่มผู้ซื้อ หรือเท่ากับ 16.63 % ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ในราคา 0.97 บาทต่อหุ้น ซึ่งต้นทุนที่ได้มาเฉลี่ย 0.87 บาทต่อหุ้น โดยมีกำไรจากการขายประมาณ 8.7 ล้านบาท
กลุ่มผู้ซื้อ ได้แก่ นางโฉมพิศ บุนนาค จำนวน 3,000,000 หุ้น, นายปณิธาน พงศ์ไพโรจน์ จำนวน 1,000,000 หุ้น, นางอังศนา มาสะกี จำนวน 1,500,000 หุ้น, นายฉาย บุนนาค จำนวน 18,000,0000 หุ้น,นายรัตนะ วงศ์นภาจันทร์ จำนวน 21,500,000 หุ้น และ บริษัท ที อาร์ ดี ซี อินเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 42,787,100 หุ้น
ขณะที่ นสพ.ระบุว่า กลุ่ม นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น ที่ประกอบด้วย นายฉาย บุนนาค นักลงทุนรายใหญ่ บริษัท ที อาร์ ดี ซี บริษัททุนต่างชาติที่จดทะเบียนในประเทศไทย และนายรัตนะ วงศ์นภาจันทร์ ลูกชาย นางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาว อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นอกจากนี้ นายรัตนะ วงศ์นภาจันทร์ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบมจ.พี.เอ.อี. (ประเทศไทย) หรือ PAE ในสัดส่วน 14.30 ล้านหุ้น หรือ 2.49%
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--