บล.พาย (Pi) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สัปดาห์นี้ประเมินทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เคลื่อนไหวกรอบ 1,665-1,690 จุด เชื่อว่าตลาดยังมี Upside จำกัดถูกกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐ รวมไปถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นตัวกดดัน Fund Flow ให้ไหลออกได้ ซึ่งในวันศุกร์เริ่มเห็นการกลับมาขายสุทธิครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการ เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังเน้นการถือครองเงินสดระดับสูงรอการซื้อกลับช่วงปรับฐาน
ทั้งนี้ วันศุกร์ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้อนุมัติแผนการเปิดประเทศที่ง่ายมากขึ้นด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go สำหรับผู้รับ Vaccine แล้วเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ทันที เพียงแค่ขอความร่วมมือในการตรวจ ATK ด้วยตนเองระหว่างท่องเที่ยว ส่วนผู้ที่ยังมิได้รับ Vaccine จำเป็นจะต้องมีหลักฐานในการกักตัวทางเลือกพร้อมยื่นผล RT-PCR ก่อนเข้าไทย 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามระบบ Thailand Pass ยังคงมีอยู่ เรามองเป็นบวกต่อกลุ่มท่องเที่ยว (AOT AWC CENTEL ERW MINT SPA)
อย่างไรก็ตามด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเยอะส่งผลให้ต้องเน้นหุ้นที่ยังปรับขึ้นน้อย อาทิ (SPA) แม้คาดผลประกอบการ 1Q22 จะยังขาดทุนแต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหนุนจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้นหนุนจากการเปิดประเทศ
ส่วนวันศุกร์ Dow Jones ปรับฐานแรง ตลาดกังวลถึงแผนการขึ้นดอกเบี้ยของ FED จะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต คาดเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในวันจันทร์
สำหรับปัจจัยสัปดาห์นี้ (1) สหรัฐมีกำหนดรายงาน GDP ในวันพฤหัส Bloomberg คาด +1%QoQ (2) เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐในวันศุกร์ Bloomberg คาด 0.3%MoM (3) ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศไทยที่ Bloomberg คาดว่าจะรายงานภายในช่วงวันจันทร์-วันพุธ โดยคาดมูลค่าส่งออกขยายตัว 3.6%YoY นำเข้าขยายตัว 9.2%YoY โดยจะขาดดุลการค้าราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน 1Q22 Bloomberg คาดจะมี (HMPRO PTTEP BH AEONTS SCGP SCC GLOBAL) รายงานในสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้แนะหุ้นมีปัจจัยบวก อาทิ (SPA) รับผลบวกการผ่อนคลายภาครัฐ ส่งออก (ASIAN HANA KCE TU) ผลบวกเงินบาทอ่อนค่า โรงพยาบาล (BCH CHG) Defensive Stock ยามตลาดผันผวน
TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 22 บาท) แม้คาด 1Q22 TU มีกำไรสุทธิ 1,483 ลบ. (-18%YoY,-23%QoQ) แรงกดดันหลักมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเรื่องค่าชนส่ง ปัญหาเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายทางการตลาด แม้ว่ารายได้คาดว่าจะโตถึง 13%YoY มาอยู่ที่ 35,101 ลบ. จากผลดีของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง (แต่ลดลง 9%QoQ เป็นผลตามฤดูกาล) แต่เชื่อว่าราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ 2Q22 คาดว่าจะเห็นผลจากการเจรจาปรับราคากับลูกค้าได้บางส่วน
M (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 61 บาท) คาดว่า M จะรายงานกำไรสุทธิ 1Q22 ที่ 393 ล้านบาท (+343%YoY, -2%QoQ) หนุนจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในสามแบรนด์หลัก (MK, Yayoi และแหลมเจริญซีฟู้ด) หลังจากกลับมาให้บริการแบบรับประทานในร้าน พร้อมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น