นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง (TEKA) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ TEKA ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในครั้งนี้ คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 65
TEKA ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการ (Main Contractor) ซึ่งครอบคลุมงานตั้งแต่งานโครงสร้าง (Structure) งานสถาปัตยกรรม (Architecture) และงานระบบประกอบอาคาร (Mechanical & Electrical: M&E)
ด้วยจุดเด่นของ TEKA เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากว่า 38 ปี โดดเด่นในงานก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย ตลอดจนการบริหารควบคุมงานก่อสร้างอย่างเป็นระบบด้วยความใส่ใจในการให้บริการที่ดีและการส่งมอบงานที่ตรงเวลา ทำให้ TEKA ได้รับความไว้วางใจ จากลูกค้าซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ
นายวีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEKA เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโต และรองรับแผนการเข้ารับงานใหม่ในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนาสู่การเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของ TEKA
วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับงานก่อสร้างที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการ รวมถึงใช้ในการจัดหา ซ่อมแซม และปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะกระจายการรับงานก่อสร้าง ทั้งในส่วนของงานภาครัฐและภาคเอกชน และเพิ่มโอกาสในการรับงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ อาคารคอนโดมิเนียม โรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารโรงพยาบาล อาคารคลังสินค้า รวมถึงอาคารทำการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง รวมทั้ง สร้างโอกาสในการเติบโต เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาลและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ช่วยสนับสนุนบรรยากาศงานก่อสร้างในประเทศให้คึกคักขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 62-64 บริษัทมีรายได้จากงานก่อสร้าง 2,404.00 ล้านบาท, 2,453.63 ล้านบาท และ 1,594.37 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้ในปี 64 ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการก่อสร้างใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ในช่วงปลายโครงการก่อสร้าง โดยในปีที่ผ่านมามีโครงสร้างรายได้จากโครงการภาคเอกชน 90% และมาจากโครงการภาครัฐ 10%
ขณะที่ภาพรวมกำไรในช่วงปี 62-64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 104.43 ล้านบาท, 87.17 ล้านบาท และ 126.02 ล้านบาท ตามลำดับ โดยจะเห็นว่าในปี 64 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 44.56% แม้ว่ารายได้จะชะลอตัวลง เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากงานภาคเอกชน ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่างานภาครัฐ และบริษัทสามารถบริหารต้นทุนงานก่อสร้างและค่าใช้จ่ายบริหารลดลง ทำให้กำไรปรับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น